ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ครม.ไฟเขียวแผนคมนาคมแก้ปัญหาจราจร 3 ระยะ-กำชับเร่งแก้จุดปัญหาบนถนนสายหลัก 257จุด


ครม.ไฟเขียวกระทรวงคมนาคมใช้แผน 3 ระยะเร่งแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กทม.-ปริมณฑลมีทั้งแผนเร่งด่วน แผนระยะสั้น 1-3 ปีและแผนระยะยาวกว่า 3 ปี จี้ติดหน่วยงานคมนาคม-กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามข้อเสนอคจร.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำชับเร่งแก้จุดปัญหาบนถนนสายหลัก 257 จุด

บางแห่งอาจต้องย้ายหรือปิดจุดกลับรถและเร่งปรับปรุงด้านกายภาพ พฤติกรรมการขับขี่และด้านบริหารจัดการจราจร ส่วน 5 จุดปัญหาน้ำท่วมให้ประสานกทม.เร่งแก้ไขแล้ว
 
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการแถลงรายละเอียดแผนการแก้ไขปัญหาจราจรต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาว่าครม.ได้เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมโดยมอบหมายให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเร่งดำเนินการตามแผนที่นำเสนอ 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง 1-3 ปีและระยะยาว 3 ปีขึ้นไปเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)และปริมณฑล พร้อมกับกำชับให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม หน่วยงานของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  พร้อมกับเร่งให้แก้ไขจุดปัญหาบนถนนสายหลักทั้ง 257 จุดโดยเร็ว ซึ่งบางแห่งอาจต้องปรับจุดกลับรถใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงพื้นที่ด้านกายภาพ การปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ ผู้เดินบนถนน ตลอดจนการบริหารจัดการระบบจราจรใหม่ทั้งหมด
 
สำหรับแผน 3 ระยะประกอบด้วย 1.แผนระยะเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานกรมการขนส่งทางบกเร่งจัดระเบียบรถตู้ รถสาธารณะให้จอดรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างเป็นระเบียบโดยเฉพาะจุดสำคัญหลักๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีบีทีเอสจตุจักร บริเวณสะพานใหม่ รถขสมก.ขับชิดเลนซ้ายจอดให้ตรงป้าย ปรับจุดจอดและป้ายรถเมล์ที่เป็นปัญหาต่างๆ บขส.กำหนดเวลาปล่อยรถให้เหลื่อมเวลากับช่วงรถติด กรมทางหลวงเร่งปรับปรุงกายภาพถนนจุดต่างๆ เช่น จุดมอเตอร์เวย์ จุดที่น้ำท่วมขังได้ง่าย ตลอดจนกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้างตามจุดต่างๆ เช่น ช่วงอนุสาวรีย์หลักสี่ กรมทางหลวงชนบท เร่งปรับปรุงจุดที่เกิดหลุมบ่อจากกรณีอุทกภัยหรือน้ำท่วมขังให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รฟม.ดูแลและจัดระเบียบช่วงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามจุดต่างๆให้เร่งคืนผิวจราจรโดยเร็ว ส่วนกทพ.เร่งส่งเสริมประชาชนให้ใช้บัตรอีซี่พาสมากขึ้นพร้อมเร่งแก้ไขปัญหาหน้าด่านเก็บเงิน เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กวดขันวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในจุดห้ามจอด การกลับรถในจุดที่ห้าม
 
ด้านแผนระยะกลาง 1-3 ปีให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ประสานกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ทั้ง 88 สน.เพื่อประเมินสภาพการจราจรโดยเฉพาะจุดของการเกิดปัญหาบนถนนสายหลักทั้ง 257 จุดแบ่งเป็นจุดแยก 83 แห่ง จุดกลับรถ 41 แห่ง จุดคอขวด 90 แห่ง จุดปัญหาป้ายรถโดยสารประจำทาง โดยบางจุดอาจต้องปรับช่องเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดให้เป็นหยุดและไปตามจังหวะสัญญาณไฟ หรือปรับจุดกลับรถใหม่หรือปิดจุดดังกล่าวเพื่อความเหมาะสมให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาคอขวดของถนนต้องเร่งแก้ด้านกายภาพ เช่น ถนนแคบ มีความโค้ง  ลาดชัน ตัดกระแสการจราจร ผิวจราจรไม่เรียบ ปรับปรุงพฤติกรรมผู้ขับขี่/คนเดินเท้า และปรับปรุงการบริหารจัดการด้านจราจร อาทิ หน้าด่านเก็บเงิน  จากกรณีจอดรถรับ-ส่ง เช่นเดียวกับมาตรการสลับเวลาทำงานตามมติครม.เมื่อวันที่ 1 เมษายน  2532 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในกทม.-ปริมณฑลถือปฏิบัติมาตรการสลับเวลาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรโดยเลือกเวลาทำงาน 3 รอบคือ รอบเวลา 07.30-15.30 น. รอบ 08.30-16.30 น. และรอบ 09.30-17.30 น.
 
ในส่วนของแผนระยะยาว 3 ปีขึ้นไปเร่งรัดให้เปิดให้บริการรถไฟฟ้า 10 สายทางและจัดทำระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมเพิ่มมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หลังจากได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและระบบขนส่งมวลชน การปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจร การควบคุม/จำกัดการจราจร ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดแล้ว โดยมาตรการดังกล่าว เช่น การห้ามรถยนต์เข้า ผ่านหรือหยุดบนถนนหรือบริเวณที่กำหนดโดยอาจยกเว้นรถบางประเภท เช่นเดียวกับมาตรการการใช้รถยนต์ให้มุ่งเน้นไปที่ค่าใช้จ่ายโดยอาจเก็บเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้ถนน การขึ้นภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองหรือการใช้รถ โดยเฉพาะมาตรการจัดเก็บค่าผ่านทางในเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด ในช่วงเช้า-เย็น ในพื้นที่ใจกลางเมือง
มาตรการปรับปรุงและให้สิทธิพิเศษแก่ระบบขนส่งมวลชนคือการพยายามชักจูงให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น การกำหนดช่องทางเฉพาะรถขนส่งมวลชนโดยได้รับไฟสัญญาณจราจรเป็นการเฉพาะทั้งประเภททวนการจราจรและตามเส้นทางการจราจร และมาตรการกระจายการเดินทาง เช่น การเหลื่อมเวลาการเดินทาง การลดวันทำงานต่อสัปดาห์แต่ได้ชั่วโมงตามที่กำหนด มาตรการใช้พาหนะร่วมกัน มาตรการควบคุมที่จอดรถ และมาตรการควบคุมการใช้ที่ดิน เช่น การย้ายสถานที่ศึกษาออกนอกพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญ การย้ายสถานีจอดรถประจำทาง การย้ายสถานีขนถ่ายสินค้า และการสร้างเมืองใหม่
 
ทั้งนี้สำหรับจุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซากเช่น ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณดินแดง  ถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าห้างโรบินสัน ถนนพหลโยธินบริเวณลำลูกกา คูคต หน้าห้างเชียร์รังสิต ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าเซ็นทรัล  และบริเวณถนนพญาไท โดยให้ประสานกทม.เร่งหาวิธีปรับปรุงระบายน้ำ การเพิ่มเครื่องสูบน้ำจำนวน 40 เครื่อง ศึกษาพื้นที่จัดทำแก้มลิงเพื่อให้ช่วยชะลอระบายน้ำโดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉิน โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้หัวหน้าหน่วยงานลงปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยตนเอง

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2555 เวลา : 19:21:52

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:50 am