ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ประมูล 3 จี คึกคึก บอร์ด กสทช.ลั่น การแข่งขันอย่างเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังประมูล โดย กสทช.ต้องกำกับดูแล คำนึงถึงผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด


นัดประวัติศาสตร์ "การประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ หรือ 3 จี" ที่ได้เริ่มแล้ววันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักก่อนที่จะเริ่มมีการเคาะราคาประมูลในเวลา 10.00 น. และจะมีการแถลงราคาประมูลเป็น 3 ระยะ คือ 10.00 น 16.00 น. และ 21.00 น. ซึ่งก่อนที่จะมีการประมูล ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั้ง 3 รายที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ได้แก่ นายศุภชัย เจียวรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามบริษัท  เรียล ฟิวเจอร์- บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น นาย จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ซึ่งเข้าประมูล 3 จี ในนาม บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด  และนายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเข้าประมูลในนาม บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ เอไอเอส ได้ถ่ายรูปครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกัน

โดยก่อนหน้าที่จะมีการประมูล พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวยืนยันความพร้อมการจัดประมูลใบอนุญาตโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 3G ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 15 ปี มี 3 บริษัทที่เข้าร่วมการประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (บมจ.)หรือ เอไอเอส, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บมจ.แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

"การดำเนินการต่างๆ ของ กสทช. ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และเป็นไปตามหลักสากล สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ โดยภายหลังการประมูล ตนเชื่อมั่นว่าจะทำให้แต่ละบริษัทเกิดการแข่งขันด้านการบริการ ทั้งด้านคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรมกับประชาชน เนื่องจาก กสทช. กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่ประมูลใบอนุญาตได้ จะต้องสร้างเครือข่ายโทรศัพท์ให้ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี และครอบคลุมประชากร ร้อยละ 80 ภายใน 4 ปี" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

ด้าน นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า วัตถุประสงค์การประมูลคลื่นความถี่ ต้องการสนับสนุนให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมถึงให้เพียงพอกับผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผลประโยชน์ประเทศชาติ เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยกรของประเทศ ดังนั้นภาครัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม ประชาชนผู้ใช้บริการได้ความเป็นธรรม ผู้ขอรับใบอนุญาติต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม

"ประเด็นนี้เองบอร์ดได้มองว่า การแข่งขัน ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะวันประมูลเท่านั้น แต่จะต้องเกิดขึ้นหลังวันประมูลด้วย ที่ผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ไปแล้ว ต้องมีการแข่งขันภายใต้ความเป็นธรรม ซึ่ง กสทช.เองก็ต้องกำกับดูแลโดยคำนึงถึงผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์สูงสุด"

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประกวดราคารอบแรกระหว่างเวลา 10.30 น.มีเอกชน 2 ราย เสนอราคาประมูลขั้นต้น 4.5 พันล้านบาท ทับซ้อนระหว่างกันในสล็อต E และ H


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ต.ค. 2555 เวลา : 11:42:42

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:11 pm