ณฐพร พันธุ์อุดม หุ้นส่วนบริหาร สายงาน Technology, InfoComm, Entertainment and Media (TICE) บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC) กล่าวถึงการประมูล 3 จี วานนี้ว่า จำนวนผู้ใช้ 3จี ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 19 ล้านราย หลังมีการเปิดให้บริการ 3จี เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากจำนวนผู้ใช้ปัจจุบัน
โดยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ มองว่าการแข่งขันในช่วงแรก ราคาค่าบริการ 3จี อาจจะอยู่ระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประมูล และการติดตั้งขยายโครงข่าย 3จี น่าจะส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภค ดังนั้นประเด็นนี้จึงถือเป็นความท้าทายของ กสทช.ที่จะต้องกำกับดูแลค่าบริการให้เป็นธรรมกับลูกค้า ทั้งนี้ นอกจากการบริหารต้นทุนกับการทำตลาดยังต้องมีความสมดุลกันแล้ว ผู้ให้บริการแต่ละรายยังต้องพยายามหาบริการเสริมหรือดึงคอนเทนท์ (Content) อื่นๆมาให้บริการกับลูกค้า ซึ่งในอนาคต เราจะเห็นการหลอมรวมของข้อมูล ข่าวสาร และคอนเทนท์ จากหลายภาคธุรกิจมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า convergence มากขึ้นในส่วนของบันเทิง การศึกษา สถาบันทางการเงิน และสุขภาพ เพื่อดันให้อัตราค่าบริการต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และเอกชนสามารถประกอบการอยู่ได้” ณฐพร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทย่อยของบบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True) ได้ผ่านคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz (3G) ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ข่าวเด่น