ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower)
ภาพที่ 1 แสดงภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 เวลา 03:00 น.
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower) หรือฝนตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้สามารถสังเกตได้ดีที่สุดในคืนวันที่ 17 ถึงเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว โลกของเราได้เคลื่อนที่เข้าไปตัดกับสายธารของฝุ่นดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ทิ้งไว้ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์
สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตเห็นฝนดาวตก เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 จนถึงเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยการสังเกตการณ์ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และในเวลาตั้งแต่ 03.00-05.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด ซึ่งครั้งนี้มีอัตราการตกประมาณ 15 ดวงต่อชั่วโมง
ภาพที่ 2 ภาพการโคจรของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) (credited by : www.space.com)
ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากการที่ดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ซึ่งมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีโดยมีทิศการโคจรสวนทางกับทิศการ โคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ดังนั้นเมื่อโลกโคจรตัดผ่านสายธารฝุ่นที่เป็นเศษซากของดาวหางดวงนี้จะทำให้ เกิดฝนดาวตกที่มีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วมากถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที
ในการชมปรากฏการณ์สามารถสังเกตดาวตกได้จากทุกทิศทุกทางที่มาจากศูนย์กลางการ กระจายบริเวณกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งดาวตกดวงไหนมีขนาดใหญ่ มีแสงสว่างและหางยาวมาก จะเรียกว่า ไฟร์บอล (Fireball) โดยไฟร์บอลจะทำให้เห็นรอยดาวตกทิ้งไว้เป็นทางด้วย ดังนั้นควรหาสถานที่ที่มีท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน โดยปรากฏการณ์ฝนดาวตกนี้จะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้า อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับการสังเกตการณ์ได้แก่ เก้าอี้พับหรือเสื่อสำหรับนอนดู กระดาษและปากกาสำหรับจดบันทึกจำนวนของฝนดาวตก กล้องถ่ายรูปสำหรับบันทึกภาพปรากฏการณ์ รวมถึงชา กาแฟ ขนมขบเคี้ยว กินเล่นระหว่างการชมปรากฏการณ์
ภาพที่ 3 แสดงภาพปรากฎการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 2544 ซึ่งบันทึกภาพโดย นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ
ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ของ สดร.เมื่อปี 2551
ครั้งล่าสุดที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีไฟร์บอลจำนวนมาก คือปี พ.ศ. 2541 และในครั้งต่อไปคาดการณ์ว่าจะเกิดในอีก 19 ข้างหน้า นั่นคือปี พ.ศ. 2574 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบฝนดาวตก เพราะดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ ทำให้ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนการสังเกตการณ์
ภาพที่ 4 แสดงภาพปรากฎการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 2554 ซึ่งบันทึกภาพโดย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ข้อมูลทั่วไปของฝนดาวตกลีโอนิดส์
ดาวหางแม่ : 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle)
ศูนย์กลางการกระจาย : กลุ่มดาวสิงโต
ช่วงเวลาการเกิด : 6 - 30 พฤศจิกายน 2555
ช่วงเวลาที่เกิดมากที่สุด : 17 -18 พฤศจิกายน 2555
จำนวนดาวหาง ณ ช่วงเวลาที่เกิดมากที่สุด : ประมาณ 15 ดวงต่อชั่วโมง
เวลาที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ : หลังจากดวงจันทร์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว ในวันที่ 17 -18 พฤศจิกายน 2555 เวลาประมาณ 03.00 - 05.00 น.
ความเร็วของลูกไฟ : 71 กิโลเมตร/วินาที-
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข่าวเด่น