ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพลล์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจผ่านระบบ ABAC Real-time Survey เรื่อง ความสุขประเทศไทยกับกำลังใจของประชาชน
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามชมรายการสดและข่าวในหลวงเสด็จออกสีหบัญชร ในพื้นที่ 18 จังหวัด ของประเทศ พบว่า ในกลุ่มประชาชนที่ติดตามชมในหลวงเสด็จออกสีหบัญชรมีความสุข ตื้นตันใจ ปลื้มปิติสูงถึง 9.52 คะแนน จากค่าความสุขเต็มที่ 10 คะแนน
เมื่อถามถึงความรู้สึกถึงความหวังต่อความรักความสามัคคีความปรองดองเป็น หนึ่งเดียวกันของคนในชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 มีความหวังต่อความรักความสามัคคี ความปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 42.8 ระบุ เหมือนเดิม และร้อยละ 1.1 ระบุลดลง
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อทำการวิจัยเชิงคุณภาพสัมภาษณ์เจาะลึก พบว่า ส่วนใหญ่อยากกล่าวว่า "รักในหลวงและเมื่อในหลวงมีกำลังใจมากขึ้น พวกเราก็มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย" บางคนกล่าวว่า "นี่คือเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย พวกเราคนไทยด้วยกันเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกันมีในหลวงเสมือนดั่ง พ่อแห่งแผ่นดินของพวกเรา" บางคนกล่าวว่า "วันนี้นี่เองที่ทำให้รู้ว่า ความสุข ความปลื้มปิติคือความรู้สึกอย่างไร" บางคนบอกว่า "มีความสุขล้น กลั้นน้ำตาไม่อยู่จริงๆ อยากมีวันแห่งความสุขแบบนี้ทุกวัน แต่ชีวิตพวกเราต้องเดินหน้าต่อไป... ดังนั้นพวกเราจะอยู่ให้ได้ในทุกสถานการณ์ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะเรามี ในหลวงเป็นศูนย์รวมแห่งพลังทางจิตใจของพวกเราทุกคน"
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ หลักคุณธรรมที่ประชาชนผู้ถูกศึกษารู้สึกว่าคนไทยปล่อยปละละเลยไม่ได้ปฏิบัติ ในช่วงชีวิตที่ผ่านมามากที่สุด พบว่า ร้อยละ 44.2 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาคือร้อยละ 21.6 ระบุความมีวินัย ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนต่างๆ ร้อยละ 11.3 ระบุความช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจไมตรีจิตต่อผู้อื่น ร้อยละ 8.8 ระบุความรับผิดชอบ ร้อยละ 6.4 ระบุความกตัญญู ร้อยละ 4.5 ระบุความขยันหมั่นเพียร และร้อยละ 3.2 ระบุอื่นๆ เช่น ความเสียสละ ความรักชาติ และความประหยัด เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.1 มีความตั้งใจจะแก้ไขปรับปรุงตัวตามหลักคุณธรรมถวายแด่ในหลวงมากขึ้น ร้อยละ 30.5 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 1.4 ระบุลดลง
ที่น่าพิจารณาคือ "5 หยุด" ที่ประชาชนอยากฝากไปถึงนักการเมืองเพื่อช่วยกันสร้างบรรยากาศความรักความ สามัคคีของคนในชาติ เมื่อตอบได้มากกว่า 1 หยุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 ระบุ "หยุด" สร้างความขัดแย้ง รองลงมาคือ ร้อยละ 64.0 ระบุ "หยุด" ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและพรรคพวก ร้อยละ 58.9 ระบุ "หยุด" แก่งแย่งอำนาจ ปล่อยให้เป็นไปตามวาระการเลือกตั้งและประชาชนจะตัดสินใจเอง ร้อยละ 53.9 ระบุ "หยุด" ท้าทาย หยุดกร่าง หยุดเยาะเย้ยถากถางกัน และร้อยละ 51.3 ระบุ "หยุด" เลือกปฏิบัติ
ข่าวเด่น