รองปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ก. แรงงาน เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงมาตรการลดผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท พร้อมรายงานเอสเอ็มอีกลุ่มเสี่ยง แจงโรงงานปิด 4 แห่ง เหตุยอดสั่งซื้อลด ขาดทุนสะสม ด้านตัวแทนนายจ้าง แนะ มาตรการรัฐยังช่วยเหลือไม่ตรงเป้าหมาย ย้ำ แนวคิดกองทุนเอสเอ็มอีช่วยได้จริง ให้เปรียบเทียบผลกระทบแตกต่างตามพื้นที่
นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่าหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมี มติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2556 แล้ว จากนี้จะกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ในการอธิบายรายละเอียดมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับค่าจ้าง 300 บาทแก่ผู้ประกอบการ เพราะในขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน โดยอาจจะต้องมีการประชุมหารือกลุ่มย่อยแก่ผู้ประกอบการในกิจการประเภทเดียว กันรับทราบ ทั้งนี้หลังจากผู้ประกอบการทราบรายละเอียดมาตรการบรรเทาผลกระทบ 300 บาทแล้ว หากมีความเห็นว่ามาตรการใดยังไม่ตรงความต้องการ กระทรวงแรงงานพร้อมชี้แจงรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
สำหรับรายงานการเลิกจ้างเบื้องต้น พบว่า มีสถานประกอบการประกาศปิดกิจการไปแล้ว 4 แห่ง เนื่องจากยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลงสะสม ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การแข่งขันทางฝีมือแรงงานที่สูงขึ้น การแข่งขันทางการค้า ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นอกจากนี้กรณีที่นายจ้างติดประกาศไว้หน้าโรงงานโดยไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบ ล่วงหน้า ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง กรณีที่นายจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการ นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกระทรวงแรงงานมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำชับพนักงานตรวจ แรงงานติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อรายงานสถานการณ์ผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยงและหาแนวทางในการช่วยเหลือและ แจกคู่มือรายละเอียดเกี่ยวกับนิยามค่าจ้าง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
ทางด้าน นายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง 300 บาท ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในส่วนที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ยังไม่ตรงกับเป้าหมายความต้องการอย่างแท้จริง อาทิ มาตรการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพราะในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในสัญญาค้ำประกันสินเชื่อตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมพิจารณาร่วมภาครัฐและเอกชนชุดใหญ่ไม่ได้มีผู้แทนจาก ฝ่ายนายจ้างเข้าประชุมด้วย มีเพียงการเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการชุดเล็กเท่านั้น ส่วนข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น อยากให้รัฐบาลตัดสินใจว่ากองทุนดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้จริง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาท ไม่อยากให้รัฐบาลนำข้อมูลผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่กรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ตลอดจน 7 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 มาเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก
ข่าวเด่น