บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 - 18 ม.ค. 56) และแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (21 – 25 ม.ค. 56)
ราคาน้ำมันยังคงผันผวนในกรอบใกล้เคียงเดิม โดยมีปัจจัยที่มาส่งผลกระทบกับราคา ได้แก่ แผนการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ การประชุมกลุ่มผู้นำยุโรป การประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป และการประชุม World Economic Forum ที่กำลังจะจัดขึ้นว่า โดยการประชุมดังกล่าวจะสะท้อนมุมมองของผู้นำต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งอิสราเอลและท่าทีของผู้นำคนใหม่ต่อโครงการพัฒนา นิวเคลียร์และนโยบายต่างประเทศจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันใน สัปดาห์นี้
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• สมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ จะอนุมัติแผนเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ชั่วคราว ระยะสั้น 3 เดือนหรือไม่ ซึ่งจะช่วยขยายเส้นตายปัญหาหนี้สาธารณะชนเพดานจากกลางเดือนก.พ.ออกไป เพื่อที่สหรัฐฯ จะได้ไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้และไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงและเพื่อ เพิ่มเวลาให้สภาฯ พิจารณาการปรับลดงบประมาณในระยะยาวได้
• การประชุมกลุ่มผู้นำยุโรป (Eurogroup Meeting) ในวันที่ 21 ม.ค. การประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (EU Finance Minister Meeting) ในวันที่ 22 ม.ค. และการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 -27 ม.ค. นี้ ติดตามว่าผู้นำจากประเทศต่างๆ จะมีมุมมองอย่างไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2556 หลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.4% จาก ที่คาดไว้เดิมที่ 3.0% เมื่อเดือน มิ.ย. 55
• การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 21-22 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาเข้าซื้อสินทรัพย์จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ระดับ 2% จากเดิม 1% ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ BOJ จะสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นและทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ลงไปมากกว่านี้เพื่อหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น
• ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีวัดภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนและเยอรมนี (ZEW และ IFO) รวมถึงดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน(HSBC) ที่หากออกมาดีก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและภาคการ ผลิตปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
• ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 4/55 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้แก่ บริษัท กูเกิ้ล จอหน์สัน แอนด์ จอหน์สัน แอปเปิ้ล แมคโดนัลด์ 3เอ็ม เอที แอนด์ ที และไมโครซอฟ จะออกมาดีหรือไม่ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขของหลายบริษัทออกมาดีกว่าคาดและทำให้ตลาดหุ้น สหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
• ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ บริเวณคุชชิ่งโอกลาโฮมา คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากระดับสูงหลังมีการเปิดใช้ส่วนต่อขยายของท่อขนส่ง น้ำมัน Seaway Pipeline ที่มีกำลังขนส่งรวม 400,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 - 18 ม.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น 2.00 เหรียญฯ สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 95.56 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.25 เหรียญฯ มาปิดที่ 111.89 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับจีดีพีไตรมาส 4/55 ของจีนที่ขยายตัวดีเกินคาดที่ 7.9% จะส่งผลให้การใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่เหตุการณ์จับตัวประกันและเข้ายึดแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติของอัลจีเรีย ส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซของประเทศและทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเหตุการณ์จะ บานปลายจนกระทบการส่งออกของอัลจีเรียด้วย อย่างไรก็ตาม จีดีพี ไตรมาส 4/55 ของเยอรมนีที่ออกมาหดตัวที่ 0.5% ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือน พ.ย. ที่ปรับลดลงติดต่อกัน 3 เดือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยกดดันราคาให้ปรับขึ้นไม่มากนัก
ข่าวเด่น