นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน ถึง ภาพรวมการลงทุนและให้บริการโครงการรถไฟว่า จริง ๆ แล้วเรามี 4 เส้นทาง ในนโยบายที่ทางเหนือคือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่
ตะวันออกเฉียงเหนือคือ กรุงเทพฯ – หนองคาย ตะวันออกคือ กรุงเทพฯ – ระยอง ใต้คือ กรุงเทพฯ – ปาดังเบซาร์ แต่นโยบายรัฐบาลกำหนดมาว่าระยะแรก กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กรุงเทพฯ – โคราช กรุงเทพฯ – พัทยา และกรุงเทพฯ – หัวหิน ตามที่คุยกันมานั้นควรจะทำพร้อมกันใน 4 เส้นทาง เพราะว่าสามารถทำแยกกันได้ อาจจะประมูลตัวรถก่อน เพราะว่าตัวรถนั้นต้องใช้ระบบเดียวกัน ถ้า 4 เส้น 4 ระบบ คงไม่ไหว ทั้งในแง่ของอะไหล่และบุคลากร ก็ดูอาจจะทำเรื่องตัวรถ พอได้ตัวรถก็เริ่มออกแบบเส้นทางเป็นกระบวนการไป
ส่วนอันอื่นอย่างเช่น รถไฟ 10 สายในกรุงเทพมหานคร ที่ท่านนายกฯ ไปเปิดหัวเจาะอุโมงค์ ตอนนี้ก็ทำอยู่ 6 โครงการ 100 กิโลเมตร ดำเนินการอยู่แล้ว จริง ๆ แล้ว โครงการพวกนี้มันเริ่มดำเนินการอยู่แล้วเราก็ผลักดันไป เพราะฉะนั้นภายในปี 2557 ก็น่าจะประมูลได้ครบ และภายในปี 2562 ก็น่าจะเปิดได้ประมาณ 410 กิโลเมตร
แล้วก็จะมีอีก 54 กิโลเมตร เป็น 464 กิโลเมตร คือใกล้เคียงกับลอนดอนเลย ระยะทางนะครับ ลอนดอนมี 11 สาย ถือว่าใกล้เคียง ส่วนถนนก็เริ่มแล้ว มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ – โคราช น่าจะเข้าคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 1 – 2 เดือนนี้ แล้วก็กรุงเทพฯ – กาญจนบุรี ที่จะไปทวายก็เตรียม เพราะฉะนั้นโครงการพวกนี้เราทำเป็นคู่ขนาน เราคงไม่รอเพราะมันสามารถดำเนินไปได้ แล้วตัว พรบ. อาจจะช่วยในแง่ของไฟแนนซ์
ในด้านขอส่วนใหญ่แล้ว เราก็ต้องมองว่าตรงนี้เป็นสมบัติของประเทศ ถ้าเราไปคิดค่าบริการแพง สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีคนมาใช้ เพราะฉะนั้นมันก็คล้าย ๆ ทางหลวงซึ่งเป็นสมบัติของประเทศ ใครจะมาใช้ทางหลวงก็ได้ อาจจะมีบางเส้นที่เก็บค่าผ่านทาง แต่ก็แค่เพื่อการ Operate (การดำเนินการ) ไม่ได้คิดว่าจะเอากำไรหรือจะเอาทุนคืนทั้งหมด เพราะฉะนั้นแนวคิดตรงนี้ก็อาจจะใช้กับทางรถไฟด้วย อย่างรถไฟความเร็วสูงที่เราคิดไว้ เราจะให้เก็บกิโลเมตรหนึ่ง 2.1 – 2.7 บาทต่อกิโลเมตร กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ก็ประมาณ 1,300 – 1,400 บาท คือต้องแข่งกับ low cost airline (สายการบินต้นทุนต่ำ) แข่งกับ บขส. ด้วย
ข่าวเด่น