นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2553 และการเตรียมความพร้อมของกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยสู่สากล” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่า
การสื่อสารผ่านกิจการไปรษณีย์เป็นการสื่อสารที่ใช้กันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับถึงปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้มีการปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ด้วยการยกระดับการบริการให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น และตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งการเข้าร่วมกับกลุ่มสหภาพสากลไปรษณีย์เพื่อให้สามารถขนส่งและแลกเปลี่ยนไปรษณียภัณฑ์กับต่างประเทศได้
จากการที่ประเทศไทศได้มีส่วนร่วมในการประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรและการบริการของไปรษณีย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดทำ “ไปรษณียนิเทศ” ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นระเบียบแบบแผนการให้บริการที่ใช้ร่วมกันในระดับสากล โดยระบุกฎ ข้อบังคับ คำสั่งหรือประกาศว่าด้วยการไปรษณีย์ทั่วไปอันพึงต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 หรือตามอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ ที่ว่าด้วยการให้บริการไปรษณีย์ ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยสาระสำคัญของอนุสัญญาสากลไปรษณีย์จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับมติของที่ประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ ซึ่งจัดขึ้นทุก 4 ปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาปรับปรุงสาระของไปรษณียนิเทศของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมติของ ที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวด้วย
สำหรับไปรษณียนิเทศฉบับปัจจุบันได้ประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ เป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2553 – 2556) โดยขณะนี้คณะกรรมการกิจการไปรษณีย์อยู่ในระหว่างการจัดทำไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 เพื่อให้สอดคล้องกับมติการประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ สมัยที่ 25 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน – 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดแผนการจัดทำและประกาศใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ในวันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป
กระทรวงไอซีทีและคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์เห็นความสำคัญในการจัดทำไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 จึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้น เพื่อรวบรวมความเห็นในมุมมองต่างๆ รวมถึงปัญหา อุปสรรค ความคาดหวังของทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการจากการใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2553 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 และเพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกิจการไปรษณีย์ไทยก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 อีกด้วย
สำหรับสาระของไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2553 ประกอบด้วยรายละเอียดที่เกี่ยวกับการบริการไปรษณีย์และบริการการเงิน แบ่งเป็น 9 หมวด คือ หมวดทั่วไป ซึ่งได้นิยามคำว่า “ไปรษณียนิเทศ” องค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ. 2546 และนิยามศัพท์สำคัญๆ หมวดการส่งสิ่งของทางไปรษณีย์ หมวดตราไปรษณียากร หมวดการชำระค่าบริการ หมวดการหุ้มห่อและการจ่าหน้าสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ หมวดระบบงานไปรษณีย์ ที่จะกล่าวถึงระบบงานไปรษณีย์ในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การรับฝาก การส่งต่อและการนำจ่าย นิยามผู้รับ และการปฏิบัติต่อสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้ หมวดบริการไปรษณีย์ซึ่งรวมถึงบริการหลัก คือ ไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ โดยไปรษณียภัณฑ์แบ่งเป็น 5 ชนิด คือ จดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ พัสดุย่อย และเครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษและบริการพิเศษสำหรับบริการไปรษณีย์ หมวดบริการการเงิน เช่น บริการธนาณัติ และสุดท้ายหมวดการขอสอบสวนและการชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายเพราะความผิดของทางการไปรษณีย์
ข่าวเด่น