สถานการณ์ในยุโรป กำลังจะเผชิญปัญหาวิกฤติการณ์ในไซปรัส ที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามองว่าจะกลายเป็นวิกฤตลูกโซ่ที่ทำให้ยูโรโซนต้องเผชิญปัญหาอันหนักหน่วงอีกครั้งหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเฉพาะในยุโรปอย่างเช่นตลาดหุ้นของยุโรปที่จะถูกกระทบเท่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ได้ถูกเชื่อมโยงผลกระทบไปยังตลาดหุ้นสำคัญอื่นๆด้วย อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดหุ้นไทย ที่ต่างก็หลีกหนีไม่พ้นจากผลกระทบดังกล่าวที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนดำดิ่งนับหลายสิบจุด เฉพาะตลาดหุ้นดาวโจนส์เอง เมื่้อคืนดัชนีก็ร่วงไปเกือบ 100 จุดแล้ว
โดย ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 มีนาคม 2556) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 90.24 จุด หรือ 0.62% ปิดที่ 14,421.49 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 12.91 จุด หรือ 0.83% ปิดที่ 1,545.80 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 31.59 จุด หรือ 0.97% ปิดที่ 3,222.60 จุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการซื้อขาย หลังจากมีข่าวว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยื่นคำขาดว่าไซปรัสจะต้องระดมเงินทุนให้มากเพียงพอก่อนที่อีซีบีจะตัดความช่วยเหลือไซปรัสในวันจันทร์หน้า ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าหากไซปรัสผิดนัดชำระหนี้ ก็จะส่งผลให้ระบบการธนาคารของไซปรัสล่มสลายและจะส่งผลกระทบลูกโซ่ในยูโรโซนซึ่งได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้วจากวิกฤตหนี้สาธารณะ
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากมาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือนมีนาคมปรับตัวลงสู่ระดับ 46.5 จาก 47.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ส่วนภาคธุรกิจโดยรวมของเยอรมนี แม้ว่าจะมีการขยายตัวในเดือนนี้ แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนี PMI เบื้องต้นของเยอรมนี อ่อนแรงลงมาอยู่ที่ 51.0 ในเดือนมีนาคม จาก 53.3 ในเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐจะมีปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงาน แต่กลับไม่สามารถกระตุ้นตลาดได้ โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% แตะที่ 4.98 ล้านยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2552 ส่วนยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค.ได้รับการปรับทบทวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.94 ล้านยูนิต จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 4.92 ล้านยูนิต สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 มี.ค. เพิ่มขึ้น 2,000 ราย แตะระดับ 336,000 ราย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 345,000 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 7,500 ราย แตะระดับ 339,750 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2551 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัว
ข่าวเด่น