ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บมจ.ปตท. สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 18 – 22 มี.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 25 – 29 มี.ค. 56
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.27 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 108.16 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลอยู่ที่ 93.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 104.96 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ทางด้านราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.77 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 122.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลเฉลี่ยปรับตัวลดลง 2.40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 121.95 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - ไซปรัสมีแผนคิดภาษีเงินฝากที่ระดับ 6.75% สำหรับบัญชีเงินฝากที่ต่ำกว่า 100,000 ยูโร และ 9.9% สำหรับบัญชีที่สูงกว่า 100,000 ยูโร เนื่องจากเป็นข้อกำหนดเพื่อที่ทางไซปรัสต้องหาเงินช่วยเหลือมูลค่า 5.8 พันล้านยูโรเพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ (Bailout) จากทางสหภาพยุโรปและ IMF มูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร อย่างไรก็ตามรัฐสภาไซปรัสลงมติไม่ผ่านมาตรการเก็บภาษีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลเสนอให้เรียกเก็บด้วยคะแนนเสียง 36-0 คะแนนในวันที่ 19 มี.ค. 56
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - สถาบัน IFO ของเยอรมนีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือน มี.ค.56 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 106.7 จุด บ่งชี้ถึงแนวโน้มมุมมองภาคเศรษฐกิจที่ถดถอย
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดที่ 16 มี.ค. 56 เพิ่มขึ้น 2,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 336,000 ราย
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - บริษัท Shell ไนจีเรียประกาศยกเลิกประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light (168,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 56
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - Reuters รายงานแองโกลามีแผนส่งออกน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 1.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 9 เดือน (เดือน มี.ค. 56 ส่งออกที่ระดับ 1.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดก่อสร้างบ้านใหม่ ในเดือน ก.พ.56 เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 917,000 หลัง/ปี เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + Reuters รายงานเกิดการใช้อาวุธสารเคมีในการตอบโต้กันใกล้เมือง Aleppo ประเทศซีเรีย ระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดี Bashar al-Assad และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 25 คน โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างโทษว่าเป็นฝีมือของฝ่ายตรงข้าม
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 56 ลดลง 1.31 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 382.7 ล้านบาร์เรล จากอัตราการกลั่นน้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้น 2.5% มาอยู่ที่ 83.5%
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + บริษัท Oil Movement UK รายงาน OPEC (ไม่รวม Angola และ Ecuador) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 40% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก มีแผนที่จะส่งออกน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 เม.ย. 56 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 23.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + บริษัท Eni ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) หยุดการดำเนินการบนพื้นดิน (onshore activities) บริเวณ Swamp Area กำลังการผลิต 3.5 - 4 หมื่นบาร์เรลเทียบเท่าปริมาณการผลิตน้ำมัน ในบริเวณ Bayelsa ระหว่างวันที่ 21 และ 22 มี.ค. จากเหตุโจรกรรมน้ำมันกว่า 60% ของปริมาณการผลิตและการระเบิดท่อขนส่งน้ำมัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังไซปรัสและกลุ่ม Troika สามารถบรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไซปรัสและแผนช่วยเหลือประเทศ ด้วยการแบ่งแยกทรัพย์สินธนาคาร Popular Bank of Cyprus (Laiki) ออกเป็นสองส่วน ทั้งนี้เงินฝากธนาคารพาณิชย์มูลค่าต่ำกว่า 100,000 ยูโร จะถูกโอนไปยังธนาคารไซปรัส (Bank of Cyprus) ขณะที่เงินฝากมูลค่าเกินกว่า 100,000 ยูโร ซึ่งไม่ได้รับการประกันเงินฝากตามกฎหมายยูโรโซนจะไม่ได้รับการค้ำประกันและถูกระงับห้ามถอนและจะถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเงินกู้ ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำเสนอแก่คณะรัฐมนตรีคลังยูโรโซนในวันนี้เพื่อเป็นข้อเสนอแลกเปลี่ยนในการขอรับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปต่อไป ทั้งนี้หากไซปรัสสามารถได้รับเงินช่วยเหลือมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร ไซปรัสจะเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มยูโรโซนที่ได้รับความช่วยเหลือจาก Troika
อนึ่งแรงกดดันจากปัญหาในประเทศไซปรัสที่นักลงทุนเกรงว่าจะลุกลามไปยังธนาคารพาณิชย์ของสหภาพยุโรปที่กำลังอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผ่านมา ทางด้าน Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนล่าสุดในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค. 56 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7,597 สัญญา อยู่ที่ 208,632 สัญญา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ $107.00/BBL – $110.34/BBL และ $91.50/BBL – $95.37/BBL ตามลำดับ
ข่าวเด่น