สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมัน ประจำสัปดาห์ที่ 1– 5 เม.ย. 56
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 1– 5 เม.ย. 56 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 106.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)] ลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 107.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 94.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 2.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- การเจรจาเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านระหว่างกลุ่มประเทศ P5 + 1 และอิหร่านไม่ประสบความสำเร็จ โดยอิหร่านไม่ยอมรับข้อเสนอจากกลุ่ม P5 + 1
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 56 ลดลง 0.1% (M-O-M) อยู่ที่ระดับ 7.6%
- เลขานุการของ OPEC นาย Abdallah Al-Badri กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคและผู้ผลิต พร้อมทั้งเสริมว่าหากราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าระดับราคาที่กลุ่มผู้ผลิตต้องการ จะส่งผลต่อการลงทุนพัฒนาแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหม่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- กระทรวงพลังงานของโคลัมเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศเดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้น 1.6% (M-O-M) อยู่ที่ระดับ 1.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบในประเทศดำเนินการได้ปกติ
- ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 0.75% และยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวมีโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนหน้า และ ECB พร้อมที่จะต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ของยูโรโซน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 มี.ค. 56 เพิ่มขึ้น 2.71 ล้านบาร์เรล (W-O-W) อยู่ที่ระดับ 388.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 22 ปี
- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของลิเบีย นาย Omar Shakmak รายงานการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในปี 56 จะอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณการผลิตในปัจจุบันที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังนักลงทุนมองว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไตรมาสที่ 1/56 ที่จะประกาศในช่วงสัปดาห์นี้จะเติบโตที่ระดับ 8% (Q-O-Q) (ไตรมาส 4/55 อยู่ที่ระดับ 7.9%) อีกทั้งญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะสนับสนุนราคาในตลาดโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทางด้านการเจรจาระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 ที่สิ้นสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาไม่มีข้อสรุปในโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยอิหร่านยังไม่ตกลงหยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตามซูดานใต้เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากหยุดการผลิตไปตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 55 เนื่องจากไม่สามารถตกลงค่าส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อกับทางซูดานได้ และประเทศนอร์เวย์ที่สามารถหลีกเลี่ยงการประท้วงภาคแรงงานในประเทศได้ ซึ่งการประท้วงจะส่งผลต่อภาคการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซในแหล่งผลิตนอกชายฝั่ง รวมไปถึงสนามบินและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กอปรกับนักวิเคราะห์จาก Commerzbank มองว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบจากประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรปที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นและจะส่งผลลบต่อราคา
ข่าวเด่น