ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนในทิศทางขาลง เนื่องจากความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย ได้แก่ การแก้ไขเหตุรั่วไหลท่อส่งน้ำมันของบริษัทเอ็กซอนโมบิล การประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน การจัดตั้งรัฐบาลอิตาลี ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของทั้งสหรัฐ ยุโรปและจีน โดยเฉพาะจากสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• การแก้ไขเหตุรั่วไหลของท่อส่งน้ำมันดิบเพกาซุสของบริษัทเอ็กซอลโมบิล กำลังส่ง 90,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งน้ำมันดิบแคนาดาจากรัฐอิลลินอยส์มายังโรงกลั่นในแถบรัฐเทกซัส เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คอยกดดันราคาน้ำมันดิบ WTI เนื่องจากมีส่วนทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในแถบตอนกลางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯโดยเฉพาะบริเวณคุชชิ่ง ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯได้สั่งให้เอ็กซอนโมบิลทำการซ่อมบำรุงให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
• จับตาการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไอร์แลนด์ในวันที่ 12 เม.ย. ว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินในยูโรโซนอย่างไร หลังไซปรัสได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 10,000 ล้านยูโร โดยมีเงื่อนไขในการอายัดบัญชีที่มียอดเงินฝากสูงกว่า 100,000 ยูโร ตลาดคาดว่าประเทศต่อไปที่มีโอกาสขอเงินช่วยเหลือคือสโลวีเนีย
• รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่ามีมุมมองต่อเศรษฐกิจอย่างไร หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายภาคส่วนตั้งแต่ช่วงต้นปี เริ่มชะลอตัวลง นอกจากนี้ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบประจำเดือนของโอเปก EIA และ IEA ในส่วนของการขยายตัวของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกในปีนี้ โดยเฉพาะประเด็นของอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากประเทศนอกกลุ่มโอเปก
• ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี หลังผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. ที่ผ่านมาไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ล่าสุดประธานาธิบดีของอิตาลีซึ่งจะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้นใหม่ เพื่อปูทางให้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน เม.ย. ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในปีนี้
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดุลการค้าและดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศสำคัญๆ ในยูโรโซน รายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารกลางยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภคและดุลการค้าของจีน ยอดขายปลีกและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ(ม.มิชิแกน) รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 มี.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง 4.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 92.70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 5.90 เหรียญฯ มาปิดที่ 104.12 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมับดิบดูไบปรับลดลง 2.98 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 103.92 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในยุโรป สหรัฐฯและจีนที่ชะลอตัวลง ประกอบกับ รายงานของ EIA พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.71 ล้านบาร์เรลซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ที่ 388 ล้านบาร์เรล และเกิดการรั่วของท่อส่งน้ำมันดิบเพกาซุสของบริษัทเอ็กซอนโมบิล ซึ่งมีกำลังส่งมากกว่า 90,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมระหว่างอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจที่คาดว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับลดลงมากนักในช่วงปลายสัปดาห์
ข่าวเด่น