เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 ณ ห้องประชุมพะยูน กรมประมง 5 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปลาเบญจพรรณหรือปลาเป็ดเพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าวในเรื่องการจัดทำระบบการรับรองการใช้ปลาเป็ดสำหรับการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชนในการที่จะช่วยกันพัฒนาส่งเสริม และผลักดันให้มีการรับรองการใช้ปลาเป็ดที่ได้จากการทำประมงที่รับผิดชอบเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการค้ากับประเทศต่างๆ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าประมงไทย
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลผลิตสัตว์น้ำทั้งที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการสร้างระบบในการรับรองผลผลิตสัตว์น้ำว่าได้มาโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์
สำหรับการประมงทะเล กรมประมงได้พัฒนาระบบการรับรองแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและวิธีการทำประมงเพื่อรับรองสัตว์น้ำสำหรับใช้เป็นอาหารมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยให้ชาวประมงบันทึกข้อมูลในสมุดปูมเรือเพื่อให้ทางการตรวจสอบรับรอง ระบบการรับรองนี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผลผลิตประมงของไทย และลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาพลักษณ์ของผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการประมงทะเล เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งมีส่วนผสมของปลาป่นที่ทำมาจากปลาเป็ด จากการประมงทะเลไทย หากปลาเป็ดเหล่านี้ได้มาจากการทำประมงที่ไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุมและรายรายงาน (IUU) ก็จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในการกีดกันทางการค้า
ดังนั้น กรมประมงได้ร่วมกับ 4 หน่วยงานข้างต้นในการพัฒนาระบบการรับรองให้ครอบคลุมถึงการได้มาและวิธีการทำประมงสำหรับปลาเป็ดที่นำมาทำเป็นอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งใบรับรองนี้จะถูกใช้เป็นหลักฐานตลอดสายการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคกุ้งไทยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการเพาะเลี้ยงกุ้งไทยด้วย
ด้าน นางวิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลโรงงานปลาป่น "ระบบการรับรองฯ" ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะช่วยพัฒนามาตรฐานการผลิตปลาป่น อีกทั้งการบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้มาช่วยกันส่งเสริมให้ผลผลิตปลาป่นของประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า อาหารสัตว์ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยกำลังเป็นที่จับตามองของหลายๆประเทศ ถึงที่มาของวัตถุดิบที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาบังคับใช้
ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต-ผลผลิตสัตว์น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง
นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า การผลิต "ปลาป่น" ของไทย ในปัจจุบันร้อยละ 60 เป็นการเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และอีกร้อยละ 40
ได้จากการจับจากธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งวัตถุดิบได้ และสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการอย่างเป็นระบบอันจะทำให้มาตรฐานกระบวนการผลิตของไทยพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง
นายชินชัย สถิรยากร ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมงทุกคนต้องการที่จะอยู่ในระบบที่ถูกต้อง และให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงไทยต้องปรับตัว แต่เนื่องจากจำนวนชาวประมงที่มีอยู่มากและมีความหลากหลายก็อาจต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทุกคน
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะมีการจัดสัมมนาในพื้นที่รอบอ่าวไทย จำนวน 6 จุด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะนำระบบการรับรองวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์มาใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นี้
ข่าวเด่น