“ปัจจัยพื้นฐานกดดัน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง” “ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบที่ลดลงที่ 95-102 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 85-92 เหรียญฯ” แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (22 – 26 เม.ย. 56) ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนในทิศทางขาลง เนื่องจากแรงกดดันจากปัจจัยพื้นฐาน หลังตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะปรับลดลง รวมถึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ในการจัดตั้งรัฐบาลของอิตาลี ซึ่งสร้างแรงกดดันแก่นักลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความรุนแรงในเวเนซูเอล่า การปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทเชลล์ในไนจีเรียอย่างไม่มีกำหนด และความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯและเกาหลีใต้ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไม่มากนัก ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: • ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลของอิตาลี หลังยังไม่มีพรรคใดมีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทั้งนี้ล่าสุดสมาชิกรัฐสภาของอิตาลีได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อปูทางให้แก่ประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆและได้รับเลือกจากสมาชิกรัฐสภา • ความคืบหน้าเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า หลังจากที่ นาย นีโกลัส มาดูโร ได้รับเสียงข้างมากชนะการเลือกตั้ง และได้รับการรับรองจากทางการเวเนซูเอล่าให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ผู้สมัครพรรคตรงข้ามอ้างว่านายมาดูโรโกงการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีการนับผลคะแนนใหม่อีกครั้ง นำไปสู่เหตุการณ์การประท้วงรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งนี้นักลงทุนมีความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจากเวเนซูเอล่าอาจได้รับผลกระทบได้หากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศยังยืดเยื้อออกไป • ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯและเกาหลีใต้ หลังสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น เมื่อเกาหลีเหนือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีฐานทัพสหรัฐฯและเกาหลีใต้ รวมทั้งขู่ที่จะปิดนิคมอุตสาหกรรมแคซองซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุดญี่ปุ่นและสหรัฐฯได้เตรียมอาวุธที่จะต่อต้านขีปนาวุธดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว • การกลับมาของท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทเชลล์ หลังการประกาศปิดฉุกเฉินท่อขนส่งน้ำมันในไนจีเรียที่มีกำลังการส่งกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวันเพื่อหยุดซ่อม ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากไนจีเรียได้ ในเบื้องต้นเชลล์ยังไม่ได้ระบุว่าจะใช้เวลาซ่อมท่อดังกล่าวนานเท่าไร • ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Ifo) ดัชนีภาคการผลิตจีน โดย HSBC ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านมือสอง ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ(ม.มิชิแกน) และจีดีพีไตรมาส 1/56 ของสหรัฐฯ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 เม.ย. 56) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง 3.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 88.01เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.46 เหรียญฯ มาปิดที่ 99.65 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมับดิบดูไบปรับลดลงกว่า 3 เหรียญฯ มาอยู่ที่ประมาณ 98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ด้วยปัจจัยกดดันหลายประการ ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯและจีนที่ออกมาสวนคาด ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯในเดือน มี.ค. 56 ปรับลดลง 0.4% สวนทางกับการคาดการณ์จากทางนักวิเคราะห์ว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้นักลงทุนยังกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันโลก หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ 3.3% และ 4.0% จากคาดการณ์เดิมในเดือนม.ค.ที่ 3.5% และ 4.1% เนื่องจากการปรับลดรายจ่ายภาครัฐของสหรัฐฯและปัญหาหนี้สินในยุโรป โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในปี 2557
ข่าวเด่น