ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (2พ.ค.) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเกี่ยวกับการดูแลค่าเงินบาทว่า ธปท.อาจเกิดความเสียหายนับล้านล้านบาท หากยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า
นายวีรพงษ์ กล่าวถึง กรณีความขัดแย้งในการทำงานระหว่างผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกับรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการแก้ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาท ว่า เรื่องนี้เห็นชัดว่าการทำงานของธปท.กับรมว.คลังมีปัญหา ความจริงแล้วนโยบายการเงินและการคลังจะต้องสอดประสานเพื่อให้เกิดเสถียรภาพกับระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การหารือระหว่างผู้ว่าธปท.กับรมว.คลังเท่าที่เห็นมาในฐานะที่เป็นกรรมการมีปัญหามาตลอด การดำเนินงานของธปท.ก็มีปัญหาเมือ่เกิดความเสียหายกับผู้ส่งออกและระบบเศรษฐกิจก็มีการโยนความผิดกันไปมา ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนโดยไม่รู้ว่าความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ดังนั้นคิดว่าหากสถานการณ์เป็นอย่างนี้จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงกับประเทศชาติและประชาชน ขณะนี้สถานการณ์ย่ำแย่แล้วผู้ส่งออกได้รับความเสียหาย อุตสาหกรรมใหญ่ที่จะเป็นศูนย์ในประเทศไทยก็คงเป็นไปไม่ได้ และมองไปข้างหน้าทางฝ่ายธปท.ก็บอกว่ามีมาตรการหลายอย่างที่จะทำ แต่ไม่ทราบว่ามาตรการลี้ลับหลายอย่างมีอะไรบ้างจะงัดออกมาใช้ได้เมื่อไหร่ที่จะไม่เกิดผลข้างเคียงและเกิดความเสียหายต่อประชาชนทั้งประเทศ ขณะนี้มีการยอมรับกันแล้วว่าค่าเงินแข็งผิดปกติกว่าประเทศใดในโลกในช่วงตั้งแต่ต้นปีมาถึงบัดนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแต่หาคนรับผิดชอบไม่ได้
“ผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยก็รู้สึกอึดอัด รู้สึกเป็นกังวลต่อเหตุการณ์ที่จะมาในข้างหน้าเป็นอย่างยิ่งเพราะมองไปแล้วที่พูดว่ามีมาตรการหลายอย่างนอกจากดอกเบี้ยก็ไม่เห็นมีอะไร และก็ไม่มีอะไร4ปีมาแล้ว ผมเตือนมาตั้งแต่เงินบาท33บาทต่อดอลลาร์จนบัดนี้ต่ำกว่า29บาทต่อดอลลาร์ก็เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งยังดำรงอยู่ คือความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยของเรากับต่างประเทศ ซึ่งผมก็ชี้ให้เห็นมานานแล้วและเป็นไปอย่างที่ผมพูดทุกประการ”นายวีรพงษ กล่าว
ส่วนจะมีมาตรการอะไรที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้นั้น นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจอะไรทั้งสิ้น เปิดดูกฎหมายก็บอกว่าคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการดำเนินงานของธปท. ตนก็ถามว่าการขาดทุนทุกปีจนเงินกองทุนดูดซัพสภาพคล่องติดลบเมือ่สิ้นปี55 ขาดทุนอยู่ที่530,000ล้านบาทเมื่อไตรมาสนี้ ขาดดุลอยู่ที่8แสนกว่าล้านบาท และกำลังไปเป็นล้านๆบาทในไม่ช้า ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรรมการธปท.แต่กรรมการไม่สามารถทำอะไรไม่ได้เลยเพราะสาเหตุคือไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดโลกเงินทุนก็ไหลเข้า และเงินบาทก็แข็งมาเรื่อยๆจนปัจจุบันได้แต่เตือนรมว.คลัง แต่รมว.คลังก็ได้ทำทำหนังสือมาคาดโทษตน ว่าฐานะงบดุลของธปท.ขาดดุลมากมายอย่างนี้กรรมการต้องรับผิดชอบ ตนก็ได้แสดงความเห็นไปว่ากรรมการได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูดทุกครั้งเมื่อมีการประชุมแต่ก็ไม่มีผลอะไร และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง.ทางผู้ว่าธปท.ก็ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องที่กรรมการธปท.กังวลไปหารือในกนง.ซึ่งได้ทำหนังสือตอบไปยังรมว.คลังไปอย่างนี้ หากจะเอาโทษอย่างไรก็ยอมรับซึ่งก็จะไปชี้แจงอย่างนี้
“ผู้รับผิดชอบสูงสุดในเรื่อ่งนี้คือนายกฯรองลงมาคือรมว.คลัง แต่เท่าที่สถานการณ์ที่เป็นอยู่นายกฯไม่สามารถรับผิดชอบต่อสภาฯได้เลยหากสภาฯรุนแรงขึ้นมาถึงขั้นเศรษฐกิจล้มละลายหากเงินบาทยังแข็งขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะมีปัญหา แต่ปัญหาจะกลับกันตอนเงินบาทจะอ่อนแต่เราไม่ให้อ่อน”นายวีรพงษ์ กล่าว
ส่วนจะทำอย่างไรในการหยุดการทำงานของผู้ว่าธปท.ได้ นายวีรพงษ์ ยอมรับว่า แม้จะใช้เสียงข้างมากของกรรมการธปท.ก็ไม่สามารถหยุดการทำงานของผู้ว่าธปท.ได้ เพราะตามกฎหมายของธปท.บอกว่าคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของธปท.โดยทั่วไปยกเว้นแต่งานที่เป็นอำนาจหน้าที่ของกนง.กนส.และกนช. แต่ต้องรับผลเพราะตนมีหน้าที่ๆจะต้องดูแลการดำเนินงานของธปท.คืองบดุลของธนาคาร ตกลงก็อย่างไรก็ไม่ทราบ มีความรับผิดชอบแต่ไม่มีอำนาจ
นายวีรพงษ์ ยอมรับว่า หนักใจในเรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างธปท.และรมว.คลัง เพราะพูดกันไปกันมาพอรมว.คลังพูดไป ทางธปท.ก็สวนมา ตนก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งจะให้วิ่งเป็นตัวกลางเป็นท้าวมาลีวราชก็ไม่ใช่หน้าที่ถ้าเขาฟังก็ดีไปถ้าไม่ฟังก็เสียหน้า ซึ่งความขัดแย้งระหว่างธปท.และรมว.คลังเกิดจากความเห็นไม่ตรงกัน โดยทั้งสองฝ่ายไม่มีการปรับความเห็นเข้าหากัน
ต่อข้อถามว่าหากถึงเวลาหยุดการทำงานของผู้ว่าธปท.โดยใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้ามาผ่านกลไกของครม.และนายกฯ ทำได้หรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ก็คงต้องฝากนายกรัฐมนตรีจะต้องดูแล ส่วนนายกฯมีสิทธิถอดถอนผู้ว่าธปท.ได้หรือไม่ๆทราบ และตนไม่อยากให้ถึงขั้นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะทำการถอดถอนผู้ว่าธปท.เพราะปัญหาสามารถแก้ไขได้เนื่องจากเป็นปัญหาขององค์กรและระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศชาติมากกว่า
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า อยากให้สื่อบอกผ่านรมว.คลังว่าประธานคณะกรรมการธปท.หนักใจและวิตกว่ามันจะเกิดวิกฤติในเรื่องของระบบเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งการที่ผู้ว่าธปท.บอกว่าแม้เงินบาทจะแข็งถึง27บาทเศรษฐกิจก็ยังโตได้อีก เรือ่งนี้ทางผู้ว่าธปท.พูดเองเออเอง ตนไม่ได้เห็นด้วยเพราะตนอยู่ภาคเอกชนย่อมรู้ดี รวมถึงที่การบอกว่าไม่สามารถลดค่าเงินบาทได้เรื่องนี้ผู้ว่าธปท.ก็พูดเองไม่มีใครเห็นด้วยพูดเป็นนกแก้วนกขุนทองที่วังขุนพรหม
เมื่อถามว่าทางรมว.คลังควรนำเรื่องปลดผู้ว่าธปท.ออกจากตำแหน่งเข้าสู่การพิจารณาของครม.หรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ฝากรมว.คลังว่าบ้านเมืองมาถึงจุดนี้แล้วครั้งหน้าเห็นอยู่แล้วว่าจะเดินลงเหวก็ฝากบ้านเมืองไว้กับรมว.คลัง
ต่อข้อถามว่าที่บอกว่าห่วงว่าการขาดดุลของธปท.จะไปถึงล้านๆน่าจะเป็นเมื่อไร นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ไม่น่าเกินสิ้นปี2556 ซึ่งก็จะเหมือนเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง
ขณะที่ ในวันนี้ (2พ.ค.) มีกระแสข่าวปลดนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้หุ้นในช่วงบ่ายปรับตัวในแดนลบ โดยเมื่อ 16.20 น.หุ้นลบ 8.82 จุด หรือ -0.55% ดัชนีอยู่ที่ 1,589.04 จุด
ข่าวเด่น