สภาหอการค้าเตรียมพบผู้ว่าแบงก์ชาติสัปดาห์หน้าหารือแนวทางแก้บาทแข็ง รับหากบาทหลุด 28บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจโตเหลือ 4-4.5 %ได้ ระบุยังลดได้ 0.25 %
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นขณะนี้นั้นภาคเอกชนมองว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจากต่างชาติลดลงเพราะผู้ประกอบการไทยไม่สามารถตั้งราคาขายได้เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงผันผวน ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลผู้ประกอบการส่งออกทางหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยจะเดินทางไปพบกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.เพื่อหารือถึงแนวทางในการรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในสัปดาห์หน้าโดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังและ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่าหรืออ่อนลงไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค
รวมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย
ขณะเดียวกันในการดูแลผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีความแตกต่างกันโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือ เอสเอ็มอีควรให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์จัดสรรวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือลดค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้เครื่องมือทางการเงินรวมทั้งให้รัฐบาลสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซื้อขายสินค้าระหว่างชายแดนด้วยค่าเงินบาทมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการนำเสนอมาตรการต่างๆทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้นหน้าที่ในการใช้มาตรการเป็นของภาครัฐและธปท.มากกว่ารวมถึงเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยแต่เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลเท่านั้น
ด้านดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้ส่งผลให้การส่งออกหดตัวลงและเริ่มส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและเกษตรรวมทั้งการท่องเที่ยวมากขึ้นดังนั้นรัฐบาลและธปท.ควรหาแนวทางในการแก้ไข อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียมเงินลงทุนต่างประเทศระยะสั้น เพื่อสกัดการไหลเข้ามาลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท.จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าควรจะมีการปรับลดหรือไม่แต่ในปัจจุบันสัญญาณเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นจึงสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ ร้อยละ 0.25แต่จะต้องคำนึงถึงปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
นอก จากนี้ ยังมองว่า หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและหลุดกรอบ 28บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและผันผวนอาจส่งผลให้การส่งออกจะขยายเพียง3 %และจะทำให้จีดีพีของไทยลดลงเหลือเพียง4-4.5%ได้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ระดับ 83.7ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ระดับ84.8 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7เดือนเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้พิเศษในอุตสาหกรรมการส่งออกประกอบกับความกังวลด้านราคาพืชผลทางการเกษตรจะตกต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคาลดลงมากกว่า 20%โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันรวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีกระแสการแก้ไขพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 73.9ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม75.5และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ101.8ลดลงจากเดือนมี.คที่อยู่ที่ระดับ75,76.4และ102.9 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ100ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น