สถานการณ์ราคาน้ำมัน 7 พ.ค.56 : บมจ.ไทยออยล์
เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือนมิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญฯปิดที่ 96.16 เหรียญฯ และเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 1.27 ปิดที่ 105.46 เหรียญฯ
+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากข่าวที่กองทัพอิสลาเอลส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศฐานทัพในซีเรียเมื่อวันศุกร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมาโดยอ้างว่าเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ขีปนาวุธจากอิหร่านส่งผ่านซีเรียไปยังกลุ่มฮิซบอลเลาห์ในเลบานอนเพื่อใช้โจมตีอิสลาเอล ผลจากการโจมตีดังกล่าวทำให้มีทหารซีเรียเสียชิวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาตำหนิการกระทำของอิสลาเอลว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและกังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงที่บายปลายในภูมิภาคและกระทบต่อเสถียรภาพการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลางได้
- อย่างไรก็ดีตัวเลขภาคบริการในจีนประจำเดือน เม.ย. ที่ชะลอตัวลงเป็นปัจจัยหลักกดดันราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก โดยจากผลการสำรวจดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย. ในจีนพบว่าชะลอตัวลงมากที่สุดนับแต่เดือน ส.ค. ปี 2554 มาอยู่ที่ 51.1 จุด (HSBC service PMI) ลดลงจาก 54.3 จุดในเดือนก่อนหน้า กดดันจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 20 เดือน รวมทั้งมีการลดจำนวนแรงงานในภาคบริการเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2552
-/+ ดัชนีรวมภาคการผลิตและบริการในยูโรโซนประจำเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 46.9 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 46.5 จุด (Markit's Eurozone Composite PMI) อย่างไรก็ดียังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุดแสดงว่าภาคการผลิตและบริการในยูโรโซนยังอยู่ในภาวะหดตัว นอกจากนี้ดัชนีค้าปลีกยูโรโซนประจำเดือน มี.ค. ยังหดตัวอีก 0.1%
- ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือน เม.ย. มาอยุ่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่ 9.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพิ่มส่วนหนึ่ง (ประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน) นำเข้าเก็บเป็นน้ำมันคงคลังในซาอุฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดจับตาการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียในเดือน มิ.ย.ว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรลอีกครั้งหรือไม่หลังนำเข้าเพียง 8.5 ล้านบาร์เรลในเดือน พ.ค. ซึ่งปกติอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซินในปริมาณมากในเดือน มิ.ย. เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงรอมฎอน
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดีปริมาณอุปทานภายในภูมิภาคยังอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูงทั้งจากอินเดีย จีน และไต้หวัน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ คาดว่าเบรนท์จะอยู่ที่กรอบ 100 - 108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสที่ 90 -98 เหรียญฯ คืนนี้ติดตามยอดคำสั่งซื้อของโรงงานเยอรมนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศส
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่
วันอังคาร: ยอดคำสั่งซื้อของโรงงานเยอรมนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศส
วันพุธ: การผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนี ดุลการค้าจีน
วันพฤหัส: ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รายงานภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป การผลิตภาคอุตสาหกรรมและประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายอังกฤษ
วันศุกร์: การประชุมกลุ่มประเทศ G7 การผลิตอุตสาหกรรมอิตาลี
- ติดตามการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในวันที่ 10 พ.ค. ว่าจะมีมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบาทางเศรษฐกิจอย่างไร หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีนและยุโรปเริ่มชะลอตัวลงจากช่วงต้นปี
- จับตานโยบายการบริหารประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี ซึ่งไม่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดและต้องการที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นเพื่อเพิ่มการจ้างงานและรายได้ของคนในประเทศ
- ติดตามท่าทีของสหรัฐฯจากการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ว่าจะมีการใช้การแทรกแซงทางการทหารหรือไม่ อย่างไรก็ตามล่าสุดกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ออกมาสนับสนุนรัฐบาลซีเรียในการปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้าน
- ติดตามความรุนแรงในอิรักที่ยังมีเหตุปะทะระหว่างกองกำลังของรัฐกับผู้ประท้วงชาวสุหนี่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสู้รบระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงในไนจีเรียกับกองกำลังของรัฐบาล
- ติดตามการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ค. ณ นครเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ข่าวเด่น