บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โยคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบเดิมจากสัปดาห์ก่อน โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 100-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 – 17 พ.ค. 56)
ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ สาเหตุจากตลาดจะต้องรอดูความคืบหน้าในหลายประเด็น ได้แก่ การประชุมกลุ่มยูโรโซน การเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การตกลงเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ รายงานสถานการณ์น้ำมันของ IEA และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 1/56 ของหลายประเทศในยูโรโซนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงสร้างความกังวลแก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• การประชุมกลุ่มยูโรโซน (Eurogroup Meeting) ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งจะมีผู้นำและรัฐมนตรีการคลังเข้าร่วม ที่ประชุมจะมีมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร หลังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.75% เป็น 0.5% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
• ติดตามการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่จะจัดขึ้น 2 แห่งในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยการประชุมแรกจะเป็นการเจรจาระหว่างสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) กับอิหร่าน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ส่วนการประชุมถัดมา จะเป็นการเจรจาระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทนจาก 6 ชาติมหาอำนาจกับอิหร่าน ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
• สถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย ประเด็นการใช้อาวุธเคมีซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ต่อต้านเป็นผู้ใช้อาวุธดังกล่าว รวมทั้งติดตามปฎิกิริยาตอบโต้ของซีเรียและนานาชาติต่อการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล โดยอิสราเอลอ้างว่าเพื่อสกัดกั้นการขนถ่ายอาวุธจากอิหร่านไปยังกลุ่มฮิสบอเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเคยโจมตีตนในอดีต
• ติดตามว่ารายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือนเมษายนและรายงานประมาณการณ์อุปสงค์อุปทานน้ำมันของโลกในระยะกลางของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ที่ออกมาปรับลดความต้องการใช้น้ำมันโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่
• การเจรจาระหว่างพรรคเดโมเครตกับพรรครีพับลิกันในเรื่องการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ว่าพรรครีพับลิกันจะสร้างเงื่อนไขในการตัดลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเพิ่มเพดานหนี้หรือไม่ หลังมีการตัดลดงบประมาณรายจ่ายจำนวน 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/56 ของประเทศในยูโรโซนและญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมของทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซนและจีน รวมทั้งตัวเลขการขอสร้างบ้านใหม่และความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 –10 พ.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 96.04 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ปรับลดลง 0.28 เหรียญฯ ปิดที่ 103.91 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล สำหรับดูไบเพิ่มขึ้น 1.42 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 101.17 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ตัวเลขการส่งออกสินค้าและการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมาปรับตัวลดลง 0.65 ล้านบาร์เรล เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ EIA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกในปีนี้ลง 70,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 890,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจาก 9.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันไม่ให้ปรับขึ้นมากนัก
ข่าวเด่น