วันนี้ (13 พ.ค.) ภายหลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และหน่วยงานภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การหารือร่วมดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านความท้าทายเศรษฐกิจและธุรกิจไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเฉพาะเจาะจงด้านมิติค่าเงินบาท ทั้งเรื่องมาตรการดูแล หรือกระทั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด แต่เป็นการหารือในภาพกว้าง เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ความจำเป็นในการปรับปรุงเทคโนโลยีของภาคเอกชน ความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าจะต้องช่วยกันทำงาน
"วันนี้ไม่ได้พูดเรื่องมาตรการ หรือดอกเบี้ย แต่พูดภาพกว้างความเป็นไปเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนนั้นภาคเอกชนต้องการให้รัฐและธปท.ดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก ซึ่งในส่วนของธปท.ก็จะพยายามเตรียมความพร้อม โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว ถือเป็นการประชุมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ธปท.ไม่ได้ถูกกดดันอะไร"
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องให้มีการประชุมนัดพิเศษก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 พฤษภาคมนี้แต่อย่างใด แต่จะนำข้อมูลที่ได้รับไปประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจที่คาดว่าน่าจะประกาศตัวเลขได้ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อส่งให้คณะกรรมการกนง.ไปประกอบการพิจารณา เพราะแม้ว่าค่าเงินบาทจะปรับอ่อนค่าลงบ้าง แต่ทุกฝ่ายไม่สามารถประมาทหรือวางใจได้
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องมีการประชุมหารือลักษณะนี้สม่ำเสมอ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) เป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการประชุมเพื่อนำข้อมูลสถิติที่มีประโยชน์มาใช้ดำเนินการในแนวทางต่างๆ จากนี้ เชื่อว่าจะมีทางออกที่ดี ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปีนี้ร่วมกัน ทุกฝ่ายยังต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและการส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ส่วนความจำเป็นจะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น เป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น หากสื่อสารในที่ประชุมเข้าใจตรงกัน ต้องการให้ ธปท. พิจารณามาตรการที่รอบคอบและเหมาะสมออกมา เพราะทุกฝ่ายยังต้องการเห็นอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ
ข่าวเด่น