ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ราคาน้ำมันดิบลงต่อ หลังการใช้น้ำมันในจีนและสหรัฐฯ ปรับลดลง


 

เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน มิ.ย. ปรับลดลง 0.87 เหรียญฯ  ปิดที่ 95.17 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปรับลดลง 1.09 ปิดที่ 102.82 เหรียญฯ
 
- การใช้น้ำมันของจีนในเดือน เม.ย. ขยายตัว 3.2% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวช้าลง ส่วนปริมาณการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในจีนปรับลดลง 3% ในเดือน เม. ย. มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น
 
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือน เม.ย. ออกมาน่าผิดหวัง โดยปรับเพิ่มขึ้น 9.3% ซึ่งต่ำกว่าคาดที่ 9.5% ส่วนยอดค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้น 12.8% ตามคาด
 
- ยอดขายน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ปรับลดลง 4.7% ในเดือน เม.ย. นับเป็นการปรับลดในอัตราสูงสุดนับจาก ธ.ค. 51 ทั้งนี้เนื่องจากการใช้และราคาขายปลีกที่ปรับลดลง
 
+ อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน เม.ย. สวนคาดที่ว่าจะปรับลดลง 0.3% และดีกว่าเดือน มี.ค. ที่ปรับลดลง 0.5% เนื่องจากผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การซื้อรถยนต์และวัสดุอุปกรณ์ในบ้าน ซึ่งตัวเลขยอดค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือคาดนี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว
 
- ตลาดรอรายงานจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่จะออกรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือนพ.ค. และรายงานในช่วง 1-5 ปีข้างหน้า   (Medium Term) ในวันนี้ ซึ่งคาดว่า IEA จะมีการปรับปริมาณการขยายตัวของอุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ (Shale oil) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลง
 
- ตลาดยังคาดว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. จะปรับเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ที่ 395.7 ล้านบาร์เรล
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงซื้อที่กลับเข้ามาในตลาดสิงคโปร์และอุปทานในภูมิภาคที่คาดว่าจะปรับลดลงหลังโรงกลั่น โดยเฉพาะ ในยุโรปลดกำลังการผลิตลง
 
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าดูไบ เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน และมีการใช้น้ำมันดีเซลในภาคไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ คาดว่าเบรนท์จะอยู่ที่กรอบ 100 - 108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล                          ส่วนเวสต์เท็กซัสที่ 90 -98 เหรียญ ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันของ IEA และการประชุมของรัฐมนตรีการคลังยุโรปในวันนี้
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันอังคาร: ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนและเยอรมนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือนของ IEA การประชุมรัฐมนตรีคลังของยุโรป
วันพุธ: จีดีพีไตรมาส 1 ของยูโรโซน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนีตลาดบ้านสหรัฐฯ ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค
วันพฤหัส: ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯและยูโรโซน ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานและยอดการรขอสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯ ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจจีน
วันศุกร์: ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ (ม. มิชิแกน)
 
- ติดตามการประชุมกลุ่มยูโรโซน ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ว่าจะมีมุมมองต่อทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร รวมทั้งการอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซและไซปรัส
 
- ติดตามการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA)ณ นครเวียนนา ประเทศออสเตรีย และการเจรจาระหว่างผู้แทนจาก 6 ชาติมหาอำนาจกับหัวหน้าตัวแทนออิหร่าน ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีในวันที่ 15 พ.ค.
 
- จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย ทั้งการใช้อาวุธเคมีที่ยังสรุปไม่ได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ รวมทั้งติดตามปฎิกิริยาตอบโต้ของซีเรียและนานาประเทศต่อการโจมตีฐานทัพในซีเรียโดยอิสราเอล ซึ่งอ้างว่าเป็นการสกัดกั้นการขนถ่ายอาวุธจากอิหร่านไปยังกลุ่มหัวรุนแรงฮิสบอเลาะห์ในเลบานอน
 
- ติดตามการเจรจาระหว่างพรรคเดโมเครตกับพรรครีพับลิกันในเรื่องการขยายเพดานหนี้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 พ.ค. นี้ ว่าจะมีการข้อเสนอในการปรับลดรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการขยายเพดานหนี้หรือไม่


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ค. 2556 เวลา : 12:19:23

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:14 pm