ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บมจ.ปตท. ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 13-17 พ.ค. 56 และแนวโน้มสัปดาห์ 20-24 พ.ค. 56
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 103.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 94.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 100.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 114.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - Eurostat รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซน 17 ประเทศ ในไตรมาสที่ 1/56 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 12.1% และเศรษฐกิจของเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอ่อนแอ
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานความต้องการใช้น้ำมันจีนในเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 9.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามนับเป็นความต้องการใช้น้ำมันที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - UK Oil Movement รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC (ไม่รวม Angola และ Ecuador) เฉลี่ย 4สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 1 มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 0.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 23.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กำลังอยู่ในระหว่างสอบสวน บริษัท Shell, BP และ Statoil หลังพบมีพิรุธอาจผิดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดในการปั่นราคาน้ำมันโดยการให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับ Platts ผู้ประกาศราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่โลก
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - Federal Reserve ของสหรัฐฯ รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือน เม.ย. 56 ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - Federal Statistics Office ของเยอรมนีรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1/56 เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เติบโตต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากภูมิอากาศที่หนาวเย็นเป็นระยะเวลายาวนานทำให้ภาคก่อสร้างและความเชื่อมั่นทางธุรกิจหดตัว
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 32,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 360,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่ เดือน พ.ค. 55
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) - Commodity Future Trading Commission (CFCT) รายงานสถานการณ์การลงทุน สัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด Nymex ที่นิวยอร์ค และ ICE ที่ลอนดอน ของกลุ่มผู้จัดการกองทุน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค. 56 ลดลง 5,281 สัญญา เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ระดับ 205,140 สัญญา เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + สงครามกลางเมืองในอิรักยังคงมีทีท่ายืดเยื้อต่อไป หลังเกิดเหตุระเบิดหลายระลอกในพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ในวันที่ 18 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 76 ราย นับเป็นเหตุโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางเหตุความขัดแย้งทางศาสนาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน เหตุรุนแรงดังกล่าวเกิดจากกลุ่มมุสลิมนิกายสุหนี่ที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งบริหารโดยกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ กล่าวหาว่ารัฐบาลมีเป้าหมายในการโจมตีชุมชนชาวสุหนี่
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 1/56 เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือ 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + Conference Board สหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Leading Economic Index) ในเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 95.0 จุด สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี หลังตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานฟื้นตัว แม้ว่าภาคการผลิตประเทศยังคงอ่อนแอ
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + Reuters รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Thomson Reuters/University of Michigan Index) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 เบื้องต้น เพิ่มขึ้น 5.8 จุด เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 83.7 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และสูงที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) + Bloomberg รายงานปริมาณการส่งออกของแหล่งทะเลเหนือสำหรับน้ำมันดิบ 12 ชนิด ในเดือน มิ.ย.56 จะอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลัง BP วางแผนปิดซ่อมบำรุงแหล่ง Ula, Tambar, Hod, Valhall และ Ekofisk
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Leading Economic Index) ซึ่งเป็นดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้า ที่รายงานโดย Conference Board ของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 95.0 จุด สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี หลังตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานฟื้นตัว และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 6 ปี กอปรกับ ความกังวลต่อสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกอันเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาน้ำมัน โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลง เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 3 ลูก ลงสู่ทะเลญี่ปุ่น คาดว่าเพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการคว่ำบาตรและความพยายามทางการทูตของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่พยายามบีบให้เกาหลีเหนือกลับมาเปิดการเจรจา ขณะที่ในอิรัก เกิดเหตุระเบิดหลายระลอกในพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ในวันที่ 18 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 76 ราย นับเป็นเหตุครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางเหตุความขัดแย้งทางศาสนาที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังเพิ่งมีเหตุระเบิดชุมชนชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 130 ราย นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของมาลีเกิดการปะทะกันระหว่างกบฎแบ่งแยกดินแดน Tuareg และมือปืนชาวอาหรับ ทางด้านสหรัฐฯ ออกมาตำหนิรัสเซียที่ยังคงส่งมอบอาวุธให้แก่รัฐบาลซีเรีย หลังจากที่เพิ่งเห็นชอบร่วมกันที่จะยุติสงครามในซีเรีย เมื่อ 10 วันก่อน
อย่างไรก็ตามปัจจัยพื้นฐานยังคงไม่แข็งแกร่งมากนัก โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน อยู่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 19.6% ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ลดลง 1.83 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์อยู่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนประมาณ 13.2 ล้านบาร์เรล หรือ 3.5% ทางเทคนิค ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับอยู่ที่ 102 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 106 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวรับอยู่ที่ 92 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 97เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 99.2-103.2 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานยอดผลิต Gasoline ของประเทศเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 2.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ โรงกลั่น Lytton (1.09 แสนบาร์เรลต่อวัน) ของออสเตรเลีย ยังไม่สามารถเปิดหน่วยผลิต Gasoline ภายหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. 56 ปรับตัวลดลง 0.52 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ระดับ 9.65 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 13 สัปดาห์ โดยมาเลเซียนำเข้า Gasoline เพิ่มขึ้น 4.8 หมื่นบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 113.4-117.4 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
อุปทานในเอเชียตะวันออกอาจตึงตัว จีนส่งออก Diesel ในช่วงเดือน พ.ค. ได้เพียง 2.18 แสนบาร์เรล (จากโรงกลั่น Guangzhou ปริมาณ 1.35 แสนบาร์เรล และโรงกลั่น Maoming ปริมาณ 8.3 หมื่นบาร์เรล) เนื่องจากบริษัท Sinopec ผู้ส่งออกรายใหญ่ของจีน (ส่งออก Diesel ประมาณ 3 ล้านบาร์เรล ต่อเดือนในช่วง มี.ค. - เม.ย. 56) หมดโควต้าการส่งออก ทั้งนี้ทางการจีนจะประกาศโควต้าส่งออกใหม่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ ขณะที่ Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวัน เลื่อนการส่งออก Diesel ในเดือน พ.ค. 56 หลังจากโรงกลั่น Mailiao (5.4 แสนบาร์เรลต่อวัน) มีปัญหาทางเทคนิค ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 115.86-119.86 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล
ข่าวเด่น