|
|
|
|
|
|
“ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบที่ลดลง โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 98-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ”
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (27 พ.ค. – 31 พ.ค. 56)
ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่าสหรัฐฯ อาจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ก่อนกำหนด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ขณะเดียวกันตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกว่าจะมีการปรับลดโควต้าการผลิตน้ำมันดิบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งในอิหร่านมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่ากลุ่มผู้สนับสนุนโครงการนิวเคลียร์อาจชนะการเลือกตั้ง รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ในตะวันออกกลาง ยังคงเป็นปัจจัยพยุงราคาน้ำมันดิบ ไม่ให้ปรับลดลงมากนัก
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• แถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงโอกาสที่จะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ก่อนกำหนด ที่เคยคาดไว้ว่าจะใช้ QE ไปจนกว่าอัตราการว่างงานสหรัฐฯ จะลดลงต่ำกว่า 6.5% ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก
• การประชุมโอเปกที่นครเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันที่ 31 พ.ค. นี้ คาดว่าโอเปกจะยังไม่ปรับลดโควต้าการผลิตน้ำมันดิบจากระดับปัจจุบันที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันก็ตาม อย่างไรก็ดี ควรจับตาบทบาทของโอเปกอย่างใกล้ชิด หากราคาน้ำมันดิบลดต่ำลงจากระดับ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
• ติดตามสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งในอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. หลังมีการตัดสิทธิ์ตัวเต็ง 2 คน คือ นายอัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี อดีตประธานาธิบดี และนายเอสฟานด์ยาร์ ราฮิม มาชาอี คนสนิทประธานาธิบดีในปัจจุบัน ทำให้เหลือผู้สมัคร 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ต่อไป
• ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิรัก ซึ่งเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือมีข้อพิพาทเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ด้านน้ำมันกับรัฐบาลอิรัก รวมถึงความรุนแรงในซีเรียที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ล่าสุดหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษและรัสเซีย ได้เรียกร้องให้ซีเรียส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นที่นครเจนีวาในเดือน มิ.ย. นี้
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1(ครั้งที่2) ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขาย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภคและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน รวมถึง ดัชนีภาคการผลิตเมืองชิคาโกและดัชนีภาคการผลิตจีน (Official PMI)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 พ.ค. –24 พ.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 94.15 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เบรนท์ปรับลดลง 2.00 เหรียญฯ ปิดที่ 102.64 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และดูไบลดลงกว่า 2 เหรียญฯ มาอยู่ที่ประมาณ 98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันเบนซินล่วงหน้าสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 2% และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านบาร์เรล สวนความคาดหมายว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คุชชิ่ง โอกลาโฮมาปรับเพิ่มขึ้นมายืนเหนือระดับ 50 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง นอกจากนี้ ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เสนอให้ธนาคารกลางฯ ปรับลดจำนวนเงินที่ใช้ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางฯ ถึงความเป็นไปได้ของการยุติมาตรการ QE ก่อนกำหนด หลังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาน้ำมันอย่างมาก
|
บันทึกโดย : Adminวันที่ :
27 พ.ค. 2556 เวลา : 11:41:38
|
|
|
|
|
ข่าวเด่น