ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรุงเทพโพลล์เผย นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาด กนง.จะปรับลดดอกเบี้ย 0.25%


ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 35 แห่ง จำนวน 65 คน เรื่อง “ผู้ว่าฯ ธปท. ดอกเบี้ย และรัฐมนตรีฯ คลัง กับปัญหาค่าบาทแข็ง” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 – 22 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ  63.1  กังวลมากถึงมากที่สุดต่อปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีฯ คลัง กับ ผู้ว่าฯ ธปท. ส่วนร้อยละ 32.3 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด
 
เมื่อถามว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน  ถึงเวลาหรือยังที่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเด็นค่าเงินบาท ร้อยละ  46.2  เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา  โดยให้เหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ต้นตอของปัญหา อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือดูแลค่าเงินบาทที่มีประสิทธิภาพ  หากแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ  ขณะที่ร้อยละ  29.2  เห็นว่าถึงเวลาแล้ว  เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งเพราะดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้เงินไหลเข้าประเทศทำให้ค่าเงินบาทแข็ง  ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มชะลอตัว นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 49.2  ยังเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.0  เป็นการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ไม่ถูกทาง  ขณะที่ร้อยละ 18.5 เห็นว่าถูกทางแล้ว และร้อยละ 55.4  เห็นว่า กนง.  ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยควรให้ความสำคัญกับภาวะเงินเฟ้อมากกว่าค่าเงินบาท  ขณะที่ร้อยละ  18.5 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับค่าเงินบาทมากกว่า 
 
สำหรับ   ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.5 คาดว่า  กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25  เป็นร้อยละ 2.50  ขณะที่ร้อยละ  38.5  คาดว่า  กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 2.75
 
ทั้งนี้  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ  73.8  เห็นว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องสอดประสานกับนโยบายการคลัง  มีเพียงร้อยละ  10.8  เท่านั้นที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอดประสานกัน
 
สุดท้ายเมื่อถามว่ามีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใดต่อการทำหน้าที่ ผู้ว่าฯ ธปท. ของคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการรองรับค่าเงินบาทแข็ง  ร้อยละ  80.0  เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด  มีเพียงร้อยละ  13.8  ที่เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย
 
ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการบอก ผู้ว่าฯ ธปท. และ รัฐมนตรีฯ คลัง เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้น  มีดังนี้
(1) หันหน้าเข้าหากัน  เปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  ให้เกียรติกัน  โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง
(2)  เข้าใจอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย  ไม่ก้าวก่ายอำนาจกัน   ไว้ใจและเชื่อมั่นกัน  แล้วแก้ไขปัญหาตามอำนาจที่มีโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
(3) อย่าใช้ทิฐิ  ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดภายใต้ข้อมูลและประสบการณ์ที่มี  ใช้สื่อให้น้อยลงเพื่อไม่ให้มีข่าวหลุดออกไปเพราะจะดูไม่ดีในตลาด  และประสิทธิภาพของเครื่องมือจะลดลง  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ค. 2556 เวลา : 11:47:17

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:05 pm