บมจ.ไทยออยล์ วิเครราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ (3-7 มิถุนายนน 2556) น้ำมันดิบผันผวนในกรอบเดิม จับตาความรุนแรงที่ทวีขึ้นในตะวันออกกลางไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 98-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (3 – 7 มิ.ย. 56)
ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนอยู่ในกรอบเดิม โดยตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป รวมถึงข่าวการปิดซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบแถบทะเลเหนือ และเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนถึงความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบ เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะจีนและยูโรโซน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันต่อไป
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• การประชุมธนาคารกลางยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมจะมีนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะในด้านอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับลดลงแล้วจาก 0.75 % มาอยู่ที่ 0.5% และล่าสุดทางธนาคารฯ ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปเพื่อช่วยเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้น
• การซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบแถบทะเลเหนือนาน 20 วันในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนขาดหายไป และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น
• ความไม่สงบในซีเรียทวีความรุนแรงขึ้น หลังรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประเทศมหาอำนาจของโลกมีความเห็นแตกต่างกันในแนวทางการแก้ปัญหา จึงทำให้มีการจัดประชุมเพื่อสันติภาพขึ้น ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้นานาประเทศได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไข
• ความรุนแรงในอิรัก ทั้งความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 500 ศพในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรักกับเขตปกครองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือที่มีข้อพิพาทในการแบ่งผลประโยชน์ด้านน้ำมันดิบ อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิรักได้
• การที่ซูดานประกาศจะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากซูดานใต้อีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ขึ้น ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายมีขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่ซูดานใต้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชเมื่อสองปีก่อน
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 1/56 (ครั้งที่ 2) ของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคจีน รวมถึงอัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 27 – 31 พ.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 91.97 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และเบรนท์ปรับลดลง 2.25 เหรียญฯ ปิดที่ 100.39 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ดูไบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.12 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 98.66 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนรายงานโดย HSBC หดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน กอปรกับจีดีพีไตรมาส1/56 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 2.4% ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปีนี้ลงจาก 8% มาอยู่ที่ 7.75% ด้วย อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในซีเรียมีทีท่าว่าจะบานปลาย ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมไปถึงคำยืนยันจากธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารยุโรปว่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง มีส่วนช่วยพยุงราคาน้ำมัน
ข่าวเด่น