บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 98-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (10 – 14 มิ.ย. 56)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนอยู่ในกรอบเดิม สาเหตุจากความไม่แน่นอนต่างๆ โดยตลาดจับตา การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่าน ข่าวความรุนแรงในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในซีเรีย นอกจากนี้การให้สิทธิประโยชน์การนำเข้าน้ำมันดิบของเกาหลีใต้ การปิดซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบแถบทะเลเหนือ จะเป็นปัจจัยส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งทั้งหมด 8 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความภักดีต่อผู้นำสูงสุดซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยตัวเก็งประธานาธิบดี ต่างยืนยันเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อหากได้ชัยชนะ และล่าสุดสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ เล็งเป้าหมายไปที่ภาคการเงินและอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันที่สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้
• ความรุนแรงในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในซีเรียที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้สหรัฐฯ และรัสเซียจะพยายามจัดเวทีหารือขึ้นเพื่อหาข้อยุติในเดือนนี้ ล่าสุดทางการฝรั่งเศสออกมาเปิดเผยหลักฐานว่ามีการใช้อาวุธเคมีในการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกบฎจริง และหลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ได้ว่าเป็นการใช้โดยฝ่ายรัฐบาล
• เกาหลีใต้ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากการนำเข้าจากตะวันออกกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยจะจ่ายเงินคืน 90% ของส่วนต่างค่าขนส่งระหว่างตะวันออกกับภูมิภาคนั้นๆ แก่ผู้นำเข้า ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง และสนับสนุนมาตรคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
• การปิดซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในแถบทะเลเหนือในเดือนนี้ จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนขาดหายไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบโดยเฉพาะเบรนท์ให้ปรับตัวสูงขึ้น
• ติดตามรายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารกลางยุโรปว่าจะมุมมองต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร หลังตัวเลขเศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แม้ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% ไปสู่ระดับ 0.5% เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ดุลบัญชีงบประมาณ ดุลบัญชีเดินสะพัดและยอดขายปลีกสหรัฐฯ รายงานธนาคารกลางญี่ปุ่น ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ (ม. มิชิแกน)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 3 – 7 มิ.ย. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 96.03 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.17 เหรียญฯ ปิดที่ 104.56 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ดูไบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.83 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 100.49 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเวสต์เท็กซัสได้รับแรงหนุนจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าคาด โดยลดลงมากถึง 6.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะออกมาต่ำสุดในรอบ 4 ปี ตลอดจนอัตราการว่างงานก็สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะยังไม่มีการปรับลดหรือยกเลิกมาตรการ QE ก่อนกำหนดตามที่มีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้ ด้านราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น หลังมีข่าวว่าเกาหลีใต้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้นำเข้าน้ำมันดิบที่มาจากภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากตะวันออกกลาง ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน
ข่าวเด่น