ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันวันนี้ : ราคาน้ำมันดิบลง จากความผิดหวังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่มีมาตรการอัดฉีดเงินเพิ่มเติม



เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 0.39 เหรียญฯ ปิดที่ 95.38 เหรียญฯ และเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 0.99 เหรียญฯ ปิดที่ 102.96 เหรียญฯ
 
- ตลาดหุ้นและตลาดน้ำมันปรับตัวลดลงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมในการประชุมวานนี้ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตของญี่ปุ่น และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอื่น เช่น สหรัฐฯ อาจชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน
 
- รายงานประจำเดือนของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) รายงานว่ากลุ่มโอเปคปรับการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มอีก 106,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 30.57 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.  แต่ปรับการคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปีนี้ลงอีก 10,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะขยายตัวเหลือ 780,000 บาร์เรลต่อวัน โดยช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 700,000 บาร์เรลต่อวัน และจะปรับเพิ่มขึ้น ขยายตัวอยู่ที่ 900,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีหลังของ 2556 เนื่องจากมองว่าศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น
 
- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคง
คลังของสหรัฐฯปิด ณ วันที่ 7 มิ.ย.56 ว่าปรับเพิ่มขึ้น 9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่
396.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลดลง 0.7 ล้าน
บาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล และน้ำมัน
ดีเซลคงคลังปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดคาดว่าโรงกลั่นในอินเดียจะกลับมาผลิตได้ตามปกติ หลังจากหยุดดำเนินการผลิตกะทันหันเมื่อปลายเดือนก่อนหน้า เนื่องจากไฟไหม้
 
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีความต้องการจากตะวันออกกลางและอินโดนีเซียค่อนข้างสูง นอกจากนี้อุปทานยังคงตึงตัวจากการที่จีนส่งออกน้อยลง
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ไทยออยล์คาดเบรนท์ยังคงอยู่ในกรอบเดิมที่ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เวสต์เท็กซัสอยู่ในกรอบ 90 -98 เหรียญ โดยในวันนี้ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มิ.ย. โดยสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพุธ: ดุลบัญชีงบประมาณสหรัฐฯ อัตราการว่างงานอังกฤษ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน
วันพฤหัส: รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนจากธนาคารกลางยุโรป ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดขายปลีกสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ(ม.มิชิแกน) ดุลบัญชีเดินสะพัด และการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
 
- ติดตามรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 12 มิ.ย. นี้
 
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง ทั้งหมด 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ภักดีต่อผู้นำสูงสุด ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีผลต่อการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านในปัจจุบัน
 
- จับตาความรุนแรงในซีเรียที่ยังคงยืดเยื้อ หลังทางการฝรั่งเศสเปิดเผยหลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่ารัฐบาลมีการใช้อาวุธเคมีในการต่อสู้กับกลุ่มกบฎในสงครามกลางเมือง
 
- ติดตามการให้สิทธิพิเศษของเกาหลีใต้ต่อผู้น้ำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากตะวันออกกลาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและเพื่อแสดงถึงการสนับสนุนมาตรคว่ำบาตรที่มีต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
 
- การซ่อมบำรุงของแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในแถบทะเลเหนือที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. โดยใช้เวลา 20 วัน ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนหายไป
 
- รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารกลางยุโรปต่อมุมมองในการดำเนินนโยบายต่างๆ หลังตัวเลขเศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มิ.ย. 2556 เวลา : 13:36:30

19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 4:48 am