เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.ค. ปรับลดลง 2.84 เหรียญฯ ปิดที่ 95.40 เหรียญฯ ในวันสิ้นสุดสัญญา ขณะที่สัญญาส่งมอบเดือน ส.ค. ที่มีการซื้อขายหนาแน่นกว่าปรับลดลง 3.34 เหรียญฯ ปิดที่ 95.14 เหรียญฯ และเบรนท์ส่งมอบเดือน ส.ค. ปรับลดลง 3.97 เหรียญฯ ปิดที่ 102.15 เหรียญฯ - ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC PMI) ในเดือน มิ.ย. ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน มาอยู่ที่ 48.3 จากเดือนก่อนที่ 49.2 เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50 แสดงถึงการหดตัวของการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักลงทุนกังวลว่าจีดีพีของจีนในปีนี้อาจจะโตไม่ถึงเป้าหมายที่ 7.5% - ธนาคารกลางของจีนยังคงปฏิเสธที่จะอัดฉีดเงินเข้าในระบบ แม้ว่าตลาดเงินในจีนจะอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งบ่งชี้ได้จากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคารที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงไปอีก หากไม่มีการใช้นโยบายทางการเงินเข้าช่วยเหลือ - นักลงทุนยังคงปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งตลาดน้ำมันดิบ ทองคำ และหุ้นทั่วโลก ปรับลดลงอย่างหนัก หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงว่าจะเริ่มถอนการซื้อพันธบัตรจำนวน 8.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ภายในสิ้นปีนี้ และหยุดการซื้อทั้งหมดได้ภายในกลางปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น +/- ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. พุ่ง 4.2% มาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่งที่ 5.18 ล้านหน่วยต่อปี ในขณะที่ราคากลางของบ้านปรับเพิ่มขึ้น 15.4% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ระดับเทียบเท่าก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเดือน ก.ค. 2551 ในขณะที่ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟียเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.5 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ -5.2 จุด อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี โดยเฉพาะตลาดบ้านจะทำให้ทางธนาคารกลางฯ ดำเนินการถอน QE ได้ตามเป้าหมาย ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากเวียดนามเริ่มทะยอยเข้ามาซื้อน้ำมันเบนซินเพิ่มเติมในตลาดจร ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการนำเข้าเดือนมิ.ย. ไปถึงระดับ 10 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับการบริโภคที่จะปรับสูงขึ้นหลังเทศกาลรอมฎอน ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคตึงตัวมากขึ้นจากแรงซื้อของตะวันออกกลาง อินโดนีเซียและเวียดนาม ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง สัปดาห์หน้าไทยออยล์คาดเบรนท์ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 100 - 108 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสอยู่ในกรอบ 92 - 100 เหรียญฯ โดยติดตามจีดีพี ไตรมาส1/56 ของสหรัฐฯและการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดน้ำมันของนักลงทุนหลังจากการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้าได้แก่ วันจันทร์: ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Ifo) วันอังคาร: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ วันพุธ: จีดีพี ไตรมาส1/56 (ประกาศครั้งสุดท้าย) ของสหรัฐฯ วันพฤหัส: จีดีพี ไตรมาส 2/56 (ประกาศครั้งสุดท้าย) ของสหราชอาณาจักร การใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคล ยอดขายบ้านรอปิดการขาย ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของสหรัฐฯ และการประชุมคณะกรรมาธิการทางเศรษฐกิจยุโรป (วันที่ 1) วันศุกร์: การใช้จ่ายของผู้บริโภคฝรั่งเศส ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของเมืองชิคาโก ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการประชุมคณะกรรมาธิการทางเศรษฐกิจยุโรป (วันที่2) วันเสาร์: - วันอาทิตย์: ดัชนีภาคการผลิตของจีน (ประกาศครั้งสุดท้าย) จากทาง HSBC และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Official) - ความกังวลของตลาดต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในซีเรียที่อาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางและกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบได้ หลังสหรัฐฯตัดสินใจให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงด้วยอาวุธและกองกำลังทางการทหาร - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งทะเลเหนือ คาดว่าจะลดลงอย่างน้อย 330,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลเป็นเวลา 20 วันในเดือน มิ.ย. - สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างซูดานและซูดานใต้ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังซูดานออกมาประกาศว่าจะหยุดการขนส่งน้ำมันของซูดานใต้ผ่านพรมแดนของซูดานภายใน 60 วัน - ตลาดจะตอบรับอย่างไรต่อผลการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ หลัง FED ยืนยันจะยังคงดำเนินนโยบายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อไป จนกว่าปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯจะดีขึ้นที่ระดับ 6.5% - ทิศทางการบริหารประเทศของนายฮัสสันดีโรฮานี หลังรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของิหร่าน โดยตลาดมองว่านโยบายทางการต่างประเทศจะดำเนินแบบเผชิญหน้าน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการเจรจากับชาติตะวันตกต่อกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ข่าวเด่น