ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"อีสานโพล" ชี้ชาวอีสาน 78% รับไม่ได้ ขาดทุนจำนำข้าว 1.36 แสนล้าน


อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความเห็นชาวอีสาน ต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล”

โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานรับไม่ได้ที่ตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวสูงถึง 1.36 แสนล้านบาท รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่เห็นด้วยกับการปรับราคารับจำนำเหลือตันละ 12,000 บาท แต่เชื่อว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอนและดีกว่าโครงการประกันรายได้
         
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับการการขาดทุนของโครงการรับจำนำและการปรับลดราคารับจำนำ  สำรวจระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,205 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
        
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ต่อการที่รัฐขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท ในโครงการรับจำนำข้าวเฉพาะปีการผลิต 2554/2555 (ปีแรก) พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 78.2 รู้สึกรับไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทำให้รัฐสูญเสียเงินในจำนวนที่มากเกินไป และเกิดการทุจริต ส่วนอีกร้อยละ 21.8 รู้สึกรับได้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะชาวนาได้รับประโยชน์ และจำนวนที่ขาดทุนนั้นไม่น่าจะส่งผลให้ประเทศเดือดร้อน
         
เมื่อถามต่อว่า หากโครงการรับจำนำข้าวสามารถขาดทุนได้ ในแต่ละปีจำนวนเงินที่สูญเสียจากการขาดทุนไม่ควรเกินเท่าใด รัฐจึงไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 58.1 ตอบว่าเฉลี่ยแล้วไม่ควรขาดทุนเกิน 5 หมื่นล้านบาทต่อปี รองลงมาร้อยละ 21.5 ตอบว่าเฉลี่ยแล้วไม่ควรขาดทุนเกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี ร้อยละ 3.8 เห็นว่าเฉลี่ยแล้วไม่ควรขาดทุนเกิน 1.5 แสนล้านบาทต่อปี และมีเพียงร้อยละ 3.4 เห็นว่าเฉลี่ยแล้วควรขาดทุนไม่เกินระหว่าง 2.0-2.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 13.1 ที่เห็นว่า รัฐไม่ควรให้เกิดการขาดทุน หรือขาดทุนน้อยที่สุด
         
สำหรับความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ต่อการที่รัฐบาลจะปรับลดการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเหลือตันละ 12,000 บาท และจำกัดโควตารับจำนำครัวเรือนละ 5 แสนบาท พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 66.2 รู้สึกไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า จะทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนของการปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นตามราคารับจำนำที่ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว และยังมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดทุนได้ หรือควรยุติโครงการ สำหรับอีกร้อยละ 33.8 ที่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพราะจะช่วยลดการขาดทุนลงได้ และลดการทุจริตที่เกิดขึ้นได้
         
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ทราบถึงความแตกต่างระหว่างการจำนำข้าว และการประกันรายได้ชาวนาหรือไม่ ร้อยละ 56.1 ทราบความแตกต่าง และร้อยละ 43.9 ไม่ทราบความแตกต่าง และเมื่อสอบถามกลุ่มที่ทราบความแตกต่างของ 2 โครงการว่า ระหว่างโครงการรับจำนำข้าวตันละ 12,000 บาท กับโครงการประกันรายได้ปลูกข้าวตันละ 12,000 บาท ท่านอยากให้รัฐบาลใช้วิธีการใด ร้อยละ 59.8 ของกลุ่มที่ทราบความแตกต่าง ยังคงต้องการให้รัฐเลือกระบบจำนำข้าว โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพราะรายได้แน่นอนกว่า และชาวนาได้ประโยชน์มากกว่า ส่วนอีกร้อยละ 40.2 ของกลุ่มที่ทราบความแตกต่าง อยากให้รัฐบาลใช้ระบบประกันรายได้เกษตรกร เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐจะขาดทุนน้อยกว่า และเงินถึงมือเกษตรกรมากกว่า
       
  เมื่อถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ต้องการเรียกร้อง หรือมีข้อเสนอใดต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวนา พบว่า ความต้องการลำดับต้นๆ คือ ร้อยละ 25.4 เห็นว่า รัฐควรช่วยลดต้นทุนการผลิตทางด้าน ราคาปุ๋ย แรงงาน พันธุ์ข้าว และค่าเช่าที่นา ร้อยละ 24.8 ขอให้พยุงราคาข้าวให้สูง (ซึ่งร้อยละ 12.2 ต้องการให้คงราคาไว้ที่ตันละ 15,000 บาท) ร้อยละ 17.7 ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของชาวนาทุกด้าน ร้อยละ 4.7 ควบคุมการรับซื้อของพ่อค้าคนกลาง ร้อยละ 4.3 พัฒนาระบบชลประทานและฝนเทียม ร้อยละ 2.9 ตรวจสอบการทุจริตเพื่อให้เงินถึงชาวนามากขึ้น และอีกร้อยละ 20.2 เรียกร้องด้านอื่นๆ เช่น การออก พรบ.ข้าวและคุ้มครองชาวนา เงินภัยแล้งยังไม่ได้รับตั้งแต่ปีก่อน เป็นต้น
         
"จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่รับไม่ได้ต่อตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการไม่ควรขาดทุนมากเกินกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากเกินกว่านี้รัฐบาลควรต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ควรปัดความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ต่อนโยบายที่รัฐบาลจะลดราคารับซื้อลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดโควตาครัวเรือนละ 5 แสนบาทนั้น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าชาวนาจะได้รับผลกระทบ เนื่องมาจากต้นทุนการปลูกข้าวได้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ และไม่น่าจะแก้ไขปัญหาการขาดทุนจาก อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ทราบความแตกต่างระหว่างโครงการรับจำนำข้าวกับโครงการประกันรายได้ ส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าว ดีกว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพราะทำให้ข้าวมีราคาดี เกษตรกรมีรายได้แน่นอน ซึ่งประชาชนได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยลดต้นทุนการการผลิตข้าว พยุงราคาข้าวให้สูง และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนา " ดร.สุทินกล่าว

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มิ.ย. 2556 เวลา : 19:06:58

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:42 am