ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เขื่อน กฟผ. น้ำเหลือน้อย เตรียมมาตรการให้ภาคเกษตรพึ่งปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก


กฟผ. แจง แม้เข้าสู่ฤดูฝน แต่เขื่อน กฟผ. ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ยกเว้นเขื่อนรัชชประภาที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เตรียมวางแผนเก็บกักหรือระบายน้ำจากอ่างฯ ให้เหมาะสมและรัดกุมที่สุด พร้อมกำหนดมาตรการให้พื้นที่การเกษตรใช้น้ำฝนเป็นหลักในช่วงนี้

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำว่า แม้ทั่วประเทศไทยมีฝนตกเป็นระยะ แต่ปริมาณฝนสะสมยังน้อยกว่าค่าปกติ จึงไม่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อนของ กฟผ. มากนัก อ่างเก็บน้ำหลายแห่งยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 มิถุนายน 2556) มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทุกแห่งรวม 505 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีการระบายน้ำรวม 462 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังค่อนข้างจะคงที่อยู่ที่ร้อยละ 49  ของความจุเก็บกัก  มีปริมาณน้ำใช้งานได้  7,192 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19   ของความจุใช้งานได้ทั้งหมด  ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 11 หรือ 3,675 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อน กฟผ. ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อย และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก คือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 32 ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 – ปัจจุบัน เพียง 48 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้งานได้ 475 ล้าน ลบ.ม. ยังคงระบายน้ำเพื่อการอุโภค-บริโภคและช่วยเหลือการเกษตรวันละ 8 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ในเกณฑ์น้อย เช่นเดียวกัน แต่พอจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้าง โดยเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 33 ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 – ปัจจุบัน 274 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 332 ล้าน ลบ.ม. ยังคงระบายน้ำเพื่อการอุโภค-บริโภคและช่วยเหลือการเกษตรวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 28 ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 – ปัจจุบัน 197 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 103 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำเพื่อการอุโภค-บริโภค วันละ 1 ล้าน ลบ.ม.

“ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเกือบทุกแห่งยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ย มีเพียงเขื่อนรัชชประภาที่มีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธาน มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาวางแผนเก็บกักหรือระบายน้ำจากอ่างฯ ให้เหมาะสมและรัดกุม พร้อมกำหนดมาตรการให้พื้นที่การเกษตรใช้น้ำฝนเป็นหลัก เมื่อมีฝนตกในพื้นที่จะทำการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลง ส่วนปริมาณฝนที่ตกลงในเขื่อน  จะเก็บกักไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำพอใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้า” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มิ.ย. 2556 เวลา : 18:19:59

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:24 am