ตลาดหุ้นสำคํญๆ ของโลกทั้งตลาดหุ้นนิวยอร์กและยุโรป ปิดตลาดเมื่อคืน (1 ก.ค.) ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น โดยตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 14,974.96 จุด เพิ่มขึ้น 65.36 จุด หรือ +0.44% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 3,434.49 จุด เพิ่มขึ้น 31.24 จุด หรือ +0.92% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,614.96 จุด เพิ่มขึ้น 8.68 จุด หรือ +0.54%
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปิดเมื่อคืน ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 1.2% ปิดที่ 288.29 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,307.78 จุด เพิ่มขึ้น 92.31 จุด หรือ +1.49% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 7,983.92 จุด เพิ่มขึ้น 24.70 จุด หรือ +0.31% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 3,767.48 จุด เพิ่มขึ้น 28.57 จุด หรือ +0.76%
สาเหตุที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กและยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิสหรัฐฯ ที่เป็นบวก โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้รายงานว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนมิ.ย.ขยายตัวแตะ 50.9 จาก 49.0 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตสหรัฐมีการขยายตัว
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 8.749 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี สะท้อนถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่กระเตื้องขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันหลังจากนายเจเรมี สเตน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการ QE ในการประชุมเดือนก.ย. ขณะที่นายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกได้ออกมาสนับสนุนการปรับลดขนาด QE เช่นกัน
ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนจากมาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนมิ.ย.ขยับขึ้นแตะ 48.8 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี จากระดับ 48.3 ในเดือนพ.ค.
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ในภูมิภาค อย่างฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งแม้ว่ายังคงอยู่ในภาวะหดตัว แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ช้าลง โดยผลสำรวจระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของฝรั่งเศสในเดือนมิ.ย.ปรับขึ้นแตะ 48.4 จาก 46.4 ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่มขึ้นแตะระดับ +4 จากไตรมาสแรกที่ระดับ -8 มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ +3 เพราะได้แรงหนุนจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยน
ข่าวเด่น