ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบ ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญฯ ปิดที่ 105.95 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบส.ค.เพิ่มขึ้น 1.08 เหรียญฯปิดที่ 108.81 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเหตุโรงกลั่นน้ำมันหลายแหล่งในสหรัฐฯประสบปัญหาต้องหยุดซ่อมบำรุงชั่วคราว ส่งผลให้ตลาดกังวลปัญหาอุปทานตึงตัว โดยล่าสุดบริษัท Valero Energy ประกาศว่าหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินในโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังการกลั่นรวม 290,000 บาร์เรลต่อวันที่ Port Arthur รัฐเท็กซัสต้องหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉินโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถจะกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกเมื่อไร
ก่อนหน้านี้โรงกลั่นน้ำมัน Whiting ของบริษัท BP ที่อินเดียนา กำลังการผลิต 405,000 บาร์เรลต่อวัน ประกาศว่าจะปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบหนึ่งหน่วยกำลังการผลิต 110,000 บาร์เรลต่อวัน
ข้อมูลจากรอยเตอร์แสดงให้เห็นว่าประมาณการณ์ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากแถบทะเหนือในเดือนส.ค.จะปรับลดลง 6.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ประมาณ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากจะมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของท่อส่งน้ำมันดิบในนอร์เวยและหลุมผลิตน้ำมันดิบในอังกฤษ
บริษัท Shell แถลงว่าบริษัทฯตัดสินใจหยุดดำเนินการท่อส่งน้ำมันในประเทศไนจีเรียชั่วคราว (Trans Niger Pipeline) หลังจากพบการรั่วไหลของน้ำมัน ทั้งนี้การหยุดดำเนินการดังกล่าวจะกระทบต่อปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนประจำเดือนก.ค.ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 83.9 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 84.1 จุด
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีข่าวในตลาดน้ำมันว่าผู้ค้าน้ำมันบางรายเตรียมนำเข้าน้ำมันเบนซินจากตะวันออกกลางมาจำหน่ายยังตลาดสิงคโปร์หลังราคาน้ำมันเบนซินในตลาดสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯรวมทั้งจากความต้องการนำเข้าในระดับสูงจากอินโดนีเซีย
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณนำเข้าที่ชะลอตัวลงจากอินโดนีเซียและเวียดนาม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
สัปดาห์นี้ไทยออยล์คาดเบรนท์ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 104 - 110 เหรียญฯ ในขณะที่เวสต์เท็กซัสอยู่ในกรอบ 103-109 เหรียญฯ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ จีดีพี ไตรมาส2/56 ของจีน ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค และยอดขายปลีกของสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันจันทร์: จีดีพี ไตรมาส2/56 ของจีน ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค และยอดขายปลีกของสหรัฐฯ
วันอังคาร: ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ดัชนีตลาดบ้าน ดัชนีราคาผู้บริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ รวมทั้งการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน จากสถาบัน ZEW
วันพุธ: อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักร ยอดการขอสร้างบ้านใหม่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ(Beige Book)
วันพฤหัส: ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหราชอาณาจักร และการประชุมกลุ่มประเทศ จี20(วันที่ 1)
วันเสาร์: การประชุมกลุ่มประเทศ จี20(วันที่ 2) วันอาทิตย์: -
- สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในอียิปต์หลังประธานาธิบดีชั่วคราว นาย อัดลี มันซูร์ ขอเวลา 6 เดือน สำหรับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งกฤษฎีกากำหนดกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง เพื่อส่งให้ประชาชนลงประชามติภายใน 4 เดือน จากนั้นจะจัดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายในต้นปีหน้าแล้วตามด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี
- การแถลงนโยบายทางการเงินรอบครึ่งปีที่ผ่านมาจากทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการภาคการเงินของสภาคองเกรซ ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงแนวโน้มการชะลอการใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE)
- การประชุมของรัฐมนตรีการคลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ค. ประเทศรัสเซีย ที่จะพูดคุยถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆเพิ่มเติมหากสหรัฐฯตัดสินใจลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังรายงานปริมาณน้ำมันดิบจากทางสำนักงงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯปรับลดลงประมาณ 20 ล้านบาร์เรล ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่าน
- จับตาตัวเลขจีดีพี ไตรมาส2/56 ของจีนที่จะประกาศในวันที่ 15 ก.ค. โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 7.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 7.7% หลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาด
ข่าวเด่น