กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบเกษตรกรเสี่ยงฟ้าผ่าสูงสุด ผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดนฟ้าผ่าวันเสาร์สูงสุด และมักโดนฟ้าผ่าช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เตือนประชาชนห้ามอยู่กลางแจ้งขณะฝนตก หากจำเป็นต้องหมอบให้ชิดพื้นที่สุด อย่านอนราบ หรืออยู่ใกล้ของสูงเมื่อเกิดฟ้าผ่า เช่น ต้นไม้ เสาไฟ ป้ายโฆษณา
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนถูกฟ้าผ่าในช่วงฤดูฝน เนื่องจากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightning- related injuries) โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า ระหว่างปี พ.ศ.2551-2555 จำนวน 180 ราย(เฉลี่ยปีละ 36 ราย) และเสียชีวิต 46 ราย อัตราเจ็บตาย ร้อยละ 23.89 ในปี พ.ศ. 2555 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เป็นชาย ร้อยละ 68.3
หากแยกตามอายุพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45-49 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30-34 ปี และอายุ 20-24 ปี ตามลำดับ และถ้าแยกตามอาชีพจะพบเกษตรกรถูกฟ้าผ่า ร้อยละ45.71 รองลงมาเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 40 และผู้ใช้แรงงาน 8.57 วันเสาร์เกิดเหตุสูงสุด ร้อยละ 31.43 เวลาที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นเวลา 14.00-17.00 น. สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนา ไร่ สวน ดังนั้นจากรายงานดังกล่าว เห็นว่าถ้าประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตนเอง หรือไม่ประมาทก็จะไม่เจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิต จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองจากฟ้าผ่า
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่านั้นผู้เสียชีวิต 5 ปี มี 46 ราย เป็นข้อมูลผู้เสียชีวิตจากผู้ป่วยที่มารักษาตัวจากฟ้าผ่าที่โรงพยาบาลเพียง 33 แห่งเท่านั้น ยังมีผู้ถูกฟ้าผ่าที่เสียชีวิตทันที หรือบางรายบาดเจ็บไม่รุนแรง ไม่ได้มาโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ถูกฟ้าผ่ามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 โดยมีสาเหตุจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที ฟ้าผ่าเกิดจากประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆวิ่งลงสู่พื้นดินและจะผ่าลงในจุดที่สูงสุดของสถานที่นั้นๆ แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคน แต่ก็เป็นอันตรายได้หากอยู่ใกล้สิ่งที่ฟ้าผ่า กระแสไฟจากสิ่งที่ฟ้าผ่าอาจพุ่งเข้าสู่คนที่อยู่ใกล้ได้หลายทาง เช่น ผ่านเสื้อผ่าหรือตัวที่เปียก โลหะที่สวมใส่ โครงเสื้อชั้นใน ลวดจัดฟัน สร้อยโลหะ อุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน มือถือ เป็นต้น
ดังนั้น การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าทำได้ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ในขณะฝนตกฟ้าคะนอง หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทั้งทองคำ เงินทองแดง นากและสร้อยโลหะ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรนั่งหมอบ ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง
2.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
3.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
4.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง การหลบอยู่ในรถจึงปลอดภัยที่สุด เพราะโครงสร้างรถยนต์เป็นโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้
สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่า และสถานที่เกิดเหตุ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากสถานที่โดนฟ้าผ่าไปยังที่ปลอดภัย ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันทีโดยการกดหน้าอกในตำแหน่งตรงกลางให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว จนกว่าหัวใจจะเต้น คลำชีพจรได้ หรือมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3333
ข่าวเด่น