|
|
|
|
|
|
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ก.ย. ลดลง 1.84 เหรียญฯ ปิดที่ 105.39 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ก.ย. ลดลง 1.23 เหรียญฯ ปิดที่ 107.19 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของดัชนีภาคการผลิตของจีน (HSBC PMI) ประจำเดือน ก.ค. 56 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากระดับ 48.2 ในเดือน มิ.ย. 56 นับเป็นการปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์มีการคาดการณ์ว่าในปี 56 เศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 7.5% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ระดับ 7%
+ ในขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (Markit PMI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.2 ในเดือน ก.ค. 56 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 51.9 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56 โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ค. 56 ปรับลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 364 ล้านบาร์เรล ส่วนน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
+ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงาน ยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้น 8.3% มาอยู่ที่ระดับ 497,000 ยูนิต สูงกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ 485,000 ยูนิต อย่างไรก็ตาม ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค. ถูกปรับลดลงเหลือ 459,000 ยูนิต จากการรายงานเดิมที่ระดับ 476,000 ยูนิต
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าภาวะการตึงตัวของอุปทานจะเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นหลายแห่งในอินเดีย มาเลเซีย และไต้หวันที่ปิดซ่อมบำรุงไปในช่วงก่อนหน้า
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในตลาดยังคงอยู่ในสภาวะตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาคและกำลังการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำของโรงกลั่นในญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ของน้ำมันดีเซลเริ่มอ่อนแรงลง เนื่องจากการปรับลดลงของแรงซื้อหลักจากอินโดนีเซียและซาอุดิอาระเบีย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104 - 110 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 103-109 เหรียญฯ คืนนี้ติดตาม ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของสหรัฐฯ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพฤหัส: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของสหรัฐฯ
วันศุกร์: ความรู้สึกผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-ความรุนแรงของเหตุการณ์ในอียิปต์ หลังประธานาธิบดีชั่วคราวเร่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและเตรียมที่จะจัดการเลือกตั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซียังไม่มีความรุนแรงใดๆ
- ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ ซีเรีย ลิเบีย ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของภูมิภาค
- แนวโน้มของการดำเนินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE4) ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯเคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสของการชะลอ QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการกำหนดเวลาล่วงหน้า
- ติดตามตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าโรงกลั่นบางแห่งจะมีการปิดซ่อมบำรุง พร้อมจับตาตัวเลขปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวด้วย
|
บันทึกโดย : Adminวันที่ :
25 ก.ค. 2556 เวลา : 12:23:32
|
|
|
|
|
ข่าวเด่น