ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ก.ย. ลดลง 0.79 เหรียญฯ ปิดที่ 104.70 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ก.ย. ลดลง 0.48 เหรียญฯ ปิดที่ 107.17 เหรียญฯ - ตลาดกังวลต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงหลังล่าสุดรัฐบาลจีนออกมาตรการสั่งให้บริษัทต่างๆ จำนวนกว่า 1,400 แห่ง ในกว่า 19 ภาคอุตสาหกรรม ลดกำลังผลิตส่วนเกินที่สร้างปัญหาทางการเงินให้แก่ผู้ผลิต โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ ทองแดง แก้ว บางแห่งถึงขั้นต้องปิดโรงงานที่มีกำลังผลิตเกิน มาตราการดังกล่าวตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม - ทั้งนี้นักลงทุนกังวลว่าหากรัฐบาลจีนเร่งในการเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากเกินไปจนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากอาจส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจจีนเองและเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปัจจุบันยังค่อนข้างเปราะบางและหลายประเทศพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนเป็นกลไกสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ + ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 85.1 จุด จาก 83.9 จุดที่ประกาศก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยในอนาคตรวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน + ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากประเทศอิรักคาดว่าจะปรับลดลงประมาณ 400,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. เนื่องจากมีแผนหยุดซ่อมบำรุงท่าเรือและแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบทางตอนใต้ของประเทศ โดยปกติอิรักผลิตและส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 2.2 - 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน + ความรุนแรงทางการเมืองในอียิปต์ใกล้ถึงจุดแตกหักมากขึ้นทุกขณะ โดยเกิดการปะทะระลอกใหม่ ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิตแล้ว 100 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 4,500 คน ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการนำเข้าจากอินโดนีเซียเริ่มลดลงหลังเข้าช่วงถือศีลอด รวมทั้งตามทิศทางราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯที่ปรับลดลง ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการนำเข้าที่มีอย่างต่อเนื่องจากแถบแอฟริกา รวมทั้งปริมาณส่งออกจากจีนที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดีความต้องการนำเข้าจากอินโดนีเซียและตะวันออกกลางหลังเข้าฤดูถือศีลอดเป็นปัจจัยกดดันราคาไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104 - 110 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 103-109 เหรียญฯ จับตาการยอดขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ และผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมรัฐดัลลัสในคืนนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วันจันทร์: ยอดขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ และผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมรัฐดัลลัส วันอังคาร: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความรู้สึกผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Gfk index) และยูโรโซน วันพุธ:จีดีพี ไตรมาส 2/56 และการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตของเมืองชิคาโก รวมถึงอัตราการว่างงานเยอรมนีและยูโรโซน วันพฤหัส: ยอดขายรถ ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ตัวเลขการใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง และดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM and PMI index) รวมถึงดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) และดัชนีภาคการผลิตจีน (Official and HSBC PMI) วันศุกร์: รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล ยอดสั่งซื้อโรงงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ปัจจัยที่น่าจับตามอง -การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 30 - 31 ก.ค. นี้ ว่าจะมีท่าทีต่อแผนการลดหรือยุติมาตรการ QE4 เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และความต้องการใช้น้ำมัน แม้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯเคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสของการชะลอ QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการกำหนดเวลาล่วงหน้า - ติดตามตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังปรับลดลงมาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ เป็นปริมาณมากถึง 30 ล้านบาร์เรล - การประท้วงค่างแรงงานที่ยืดเยื้อในลิเบียและความไม่สงบในซีเรีย ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องยังส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของภูมิภาค - การส่งออกน้ำมันของซูดานใต้ปริมาณ บาร์เรลต่อวัน จะหยุดลงในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ตามที่ซูดานประกาศไว้หรือไม่ โดยล่าสุดสหภาพแอฟริกาได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจากับซูดานเพื่อให้ซูดานใต้สามารถส่งออกน้ำมันได้ต่อไป -จับตาความไม่ลงรอยกันทางการเมืองในอียิปต์ ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านประธานาธิบดีมอร์ซี ว่าจะรุนแรงขึ้นมาอีกหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้เหตุการณ์ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้
ข่าวเด่น