ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 103-109 เหรียญฯ แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 56) ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนในกรอบเดิม หลังข่าวปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่อาจปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันซูดานใต้อาจถูกปิดกั้นการส่งออกน้ำมันดิบ นอกจากนี้การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/56 ของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อแผนการลดหรือยุติมาตรการ QE4 นอกจากนี้การประกาศตัวเลขภาคการผลิตของจีน สหรัฐฯ และยูโรโซนที่อาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: •การประกาศตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/56 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของแผนการลดหรือยุติมาตรการ QE4 รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 30 - 31 ก.ค. นี้ ที่อาจมีความคืบหน้าของแผนดังกล่าว •ติดตามตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังปรับลดลงติดต่อกันถึง 4 สัปดาห์ เป็นปริมาณถึง 30 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังก็ปรับลดลงด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเทขายเพื่อทำกำไรในสัปดาห์นี้ •การส่งออกน้ำมันดิบของซูดานใต้ประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จะต้องหยุดลงในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ตามที่ซูดานประกาศไว้หรือไม่ ล่าสุดสหภาพแอฟริกาได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจากับซูดานเพื่อให้ซูดานใต้สามารถส่งออกน้ำมันได้ต่อไป •จับตาตัวเลขดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM and PMI index) ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) และดัชนีภาคการผลิตจีน (Official and HSBC PMI) ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ โดยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ดีตัวเลขภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐฯ และยูโรโซนออกมาดีขึ้น •ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยอดขายบ้านรอปิดการขาย การจ้างงานภาคเอกชน – นอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานเยอรมนีและยูโรโซน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความรู้สึกผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Gfk index) และยูโรโซน เป็นต้น สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 26 ก.ค. 56) ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงมาก โดยเวสต์เท็กซัสลดลง 3.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 104.70 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่เบรนท์ปรับลดลง 0.90 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 107.17 เหรียญฯ และดูไบปรับลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ประมาณ 104.68 เหรียญฯ ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง เนื่องจากมีการเทขายทำกำไรอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ ประกอบกับราคาได้รับแรงกดดันจากดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC flash PMI) เดือน ก.ค. ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือว่าลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ที่ 47.7 อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ และยูโรโซนที่มีแนวโน้มสดใส รวมถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีและความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นมาก นอกจากนี้การปิดซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมันและแหล่งผลิตน้ำมันทั้งในสหรัฐฯ และทะเลเหนือ ตลอดจนการประท้วงของคนงานบริษัทน้ำมันในลิเบียและบราซิลที่กระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ มีส่วนพยุงราคา
ข่าวเด่น