ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ก.ย. ลดลง 1.26 เหรียญฯ ปิดที่ 105.30 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ก.ย. ลดลง 0.52 เหรียญฯ ปิดที่ 108.18 เหรียญฯ - ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ภายหลังจากนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ ส่งสัญญาณถึงความต้องการเจรจาหารือกับสหรัฐฯ ในการยุติความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลในประเด็นการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลง ทั้งนี้ ก่อนการเจรจาร่วมกับอิหร่าน สหรัฐฯ เตรียมร่วมหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเพื่อกำหนดแนวทางประสานงานที่ชัดเจน - นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดัน จากถ้อยแถลงของ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลาง (เฟด) ประจำสาขาชิคาโก ที่กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างไรก็ตามจำเป็นคอยสัญญาณที่ชัดเจนของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน + สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงาน ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ณ วันที่ 2 ส.ค. 56 ปรับลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าการคาดการณ์ว่าจะลดลงที่ 1.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบคงคลังที่คุชชิ่ง โอคลาโฮมา (จุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI) ปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล + กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานดุลการค้าประจำเดือน มิ.ย. 56 ยอดการส่งออกขยายตัว 2.2%จากเดือน พ.ค. 56 มาอยู่ที่ระดับ 1.91 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดการนำเข้าหดตัวลง 2.5% มาอยู่ที่ระดับ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ณ สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 56ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.422 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ยอดนำเข้าที่หดตัวเป็นการบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสภาวะซบเซา + ยอดคำสั่งซื้อของโรงงานเยอรมันนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือน มิ.ย. 56 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อในเดือน พ.ค. 56 ถูกปรับทบทวนเป็นปรับตัวลดลงเพียง 0.5% จากเดิมที่มีการรายงานว่าร่วงลงถึง 1.3% ทั้งนี้ภาพรวมของยอดคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 2 /56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังฟื้นปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปรับตัวลดลงของอุปสงค์จากผู้ซื้อหลักอย่างอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะลดลงในเดือน ก.ย. นี้ ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอาจมีอุปทานบางส่วนเพิ่มขึ้น ภายหลังการสิ้นสุดการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในเอเชียเหนือ ประกอบกับการอ่อนกำลังลงของอุปสงค์จากผู้ซื้อหลักอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของตลาดยังคงมีความต้องการจากทางฝั่งแอฟริกาและตะวันออกกลางอยู่ ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104 - 110 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสที่กรอบ 103-109 เหรียญฯ ราคาได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือทำให้เคลื่อนไหวในกรอบที่ไม่ต่ำมากนัก ส่วนคืนนี้ติดตามรายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ โดย EIA ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วันพุธ: การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักรฯ วันพฤหัส: ยอดค้าส่งและยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ และตัวเลขดุลการค้าเยอรมนี วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดุลการค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ปัจจัยที่น่าจับตามอง - เหตุการณ์ความรุนแรงในอิรักที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง สร้างความกังวลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศ ขณะที่การปิดซ่อมบำรุงท่าส่งน้ำมันในเดือน ก.ย. คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกหายไป 400,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน - ซูดานตัดสินใจเลื่อนเส้นตายการปิดท่อขนส่งน้ำมันที่จะขนส่งน้ำมันของซูดานใต้ไปอีก 2 สัปดาห์ เป็นวันที่ 22 ส.ค. นี้ เพื่อให้สหภาพแอฟริกาเข้าตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่า ซูดานใต้ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในซูดาน - ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ โดยสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 0.4ล้านบาร์เรล หลังจาก 4 สัปดาห์ก่อนหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังบริเวณคุชชิ่ง โอคลาโฮมา หลังจากสัปดาห์ล่าสุดปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 55 - ติดตามการขอเจารจาระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯลดมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน
ข่าวเด่น