วันนี้ ( 7 ส.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเปิดประชุมเมื่อ 13.00น.
โดยทันทีที่เปิดประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พยายามตัดบทเข้าสู่วาระทันที แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันประท้วงในหลายแง่มุม อาทิ การไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดการอภิปรายในวันนี้ การกีดกันไม่ให้ผู้ช่วยส.ส.ฝ่ายค้านเข้าสภาฯ เป็นต้น
แม้ใช้ระยะเวลาผ่านไปร่วมหลายชั่วโมงแต่ ยังไม่สามารถเข้าสู่เนื้อหาของการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าวได้ นายสมศักดิ์จึงรีบตัดบทเข้าสู่วาระทันที แต่เมื่อนายวรชัยเริ่มนำเสนอหลักการและเหตุผลในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อที่ประชุมสภาฯ ปรากฏว่าระหว่างนายวรชัยได้อ่านหลักการและเหตุผลได้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสียงโห่ตลอดเวลา มีการลุกขึ้นประท้วงบ้าง และเสนอญัตติขอเลื่อนวาระการประชุม แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาต เพราะเข้าสู่วาระไปแล้ว และตัดบทให้นายวรชัย นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ อีกครั้ง ซึ่งนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ จึงตะโกนคำว่า สภาขี้ข้า อยู่หลายรอบ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชี้หน้าไปทางประธานฯ พร้อมพูดว่า “ขี้ข้า” ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รบกวนไม่ให้นายวรชัยพูด
ระหว่างบันทึกภาพการถ่ายทอด ปรากฏว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ชัยศีรษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ชูรองเท้าขึ้นมาบนโต๊ะ ก่อนที่จะยกนิ้วหัวแม่โป้งชูขึ้นซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่นายวรชัย กำลังอ่านหลักการและเหตุผลในเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสียงโห่ดังขึ้นกว่าเดิม บรรยากาศในห้องประชุม ตึงเครียดขึ้น จนนายสมศักดิ์ต้องสั่งพักประชุม
หลังจากกลับมาเริ่มการประชุมอีกครั้ง นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ที่เสนอกฎหมายดังกล่าว ได้ลุกขึ้นชี้แจงที่มาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ท่ามกลางเสียงโห่จากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยระหว่างนั้นฝ่ายค้านต่างสลับกันลุกขึ้นประท้วง เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าข่ายเป็นกฎหมายทางการเงิน ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะต้องลงนามรับรอง อีกทั้งก่อนหน้านี้ที่สภาฯ เคยพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมินั้น ประธานสภาฯ ก็ยังต้องส่งเรื่องให้ประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะของสภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ดังนั้นฝ่ายค้านมองว่าในกรณีของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ประธานสภาฯ ก็ควรต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน คือส่งเรื่องให้ประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะได้ชี้ขาดก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการโต้เถียงอยู่พักใหญ่ ประธานสภาฯ ได้ชี้แจงว่า ในกรณีของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่ต้องส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ชี้ขาดนั้น เพระไม่มั่นใจว่าจะเข้าข่ายเป็นกฎหมายทางการเงินหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วคณะกรรมาธิการต่างสรุปว่าไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน ดังนั้นในกรณีของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ซึ่งเห็นว่ามีเนื้อหาในแนวเดียวกัน จึงเห็นไม่เข้าข่ายจะเป็นกฎหมายทางการเงิน ดังนั้นจึงวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การดำเนินการแบบสองมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายวรชัย ได้เสนอหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จนจบแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่งเสียงแสดงความยินดีพร้อมกับปรบมือ
ข่าวเด่น