วันนี้ (9 สิงหาคม 2556) 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก กรณี ปอท. ออกหมายเรียกบุคคลที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนุกฉบับดังกล่าว ระบุว่า ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (“ปอท”) ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จำนวน 4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโสสายข่าวการเมืองและความมั่นคงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS นั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันพิจารณากรณีนี้แล้วเห็นว่าการโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท) จึงควร ใช้ดุลยพินิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเป็นธรรม โดยการตีความบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ความเชื่อหรือแรงกดดันทางการเมืองในการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวแก่ประชาชนทั่วไปในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ยังเห็นว่าการกด like หรือ กด Share เป็นปรากฎการณ์ปกติและเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกันในสังคมออนไลน์ที่นิยมแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน (Interactive) ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรตีความว่า การกด Like คือการร่วมลงชื่อรับรองข้อมูลอันเป็นความผิดดังกล่าว แม้มิได้เจตนาโดยตรงแต่เป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่าการ Like นั้นให้ข้อมูลได้รับความเชื่อถือมากขึ้นย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดในฐานะตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้การกด Like หรือกด Share ดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 14 (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเจตนาเล็งเห็นผล (ซึ่งอาจได้รับโทษฐานเป็นตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามขอให้สื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์พึงตระหนักว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงควรยึดถือแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.2553 เป็นสำคัญ
ข่าวเด่น