"เหตุประท้วงในลิเบียและการหยุดซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกน้ำมันในอิรักหนุนราคาน้ำมันดิบ"
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ก.ย. เพิ่มขึ้น 0.13 เหรียญฯ ปิดที่ 106.11 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ก.ย. เพิ่มขึ้น 0.75 เหรียญฯ ปิดที่ 108.97 เหรียญฯ
+ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากเหตุประท้วงของคนงานในลิเบียซึ่งส่งผลทำให้ท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบและหลุมผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งของประเทศต้องหยุดชะงักลง โดยล่าสุดท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบสำคัญ 2 แห่งได้แก่ Es Sider และ Ras Lanuf ยังถูกปิดอยู่โดยท่าเรือดังกล่าวมีกำลังการส่งออกน้ำมันดิบกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปัจจุบันอุปทานน้ำมันดิบที่ผลิตและส่งออกจากลิเบียยังอยู่น้อยกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับปกติที่มากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ นอกจากนี้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักที่คาดว่าจะปรับลดลงอีกกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบตางตอนใต้ของประเทศ โดยปัจจุบันอิรักส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 2.2-2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ ตัวเลขส่งออกของจีนในเดือน ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวประมาณ 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยเดือนที่แล้วตัวเลขการส่งออกของจีนหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน ซึ่งตัวเลขที่ดีขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาพของเศรษฐกิจจีน
- อย่างไรก็ดี ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในยุโรปปรับลดลงมาก ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์นี้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในยุโรปจะเริ่มลดลงกำลังการกลั่นลงประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใชน้ำมันดิบในระยะสั้นปรับลดลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการภายในภูมิภาคเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างอินโดนีเซียที่คาดว่าจะชะลอการนำเข้าลงในเดือน ก.ย. หลังผ่านเดือนรอมฎอน
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยถูกกดดันจากปริมาณส่งออกจำนวนมากจากอินเดียภายหลังความต้องการใช้ภายในประเทศปรับลดลงหลังเข้าฤดูมรสุม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104 - 110 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสที่กรอบ 103-109 เหรียญฯ คืนนี้ติดตามยอดค้าปลีก ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันอังคาร: ยอดค้าปลีก ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน
วันพุธ: ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ และจีดีพีไตรมาส 5/56 ของยูโรโซน (Flash GDP)
วันพฤหัส: ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์คและของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย รวมถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาตลาดบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ
วันศุกร์: ยอดการขอสร้างบ้านใหม่ ความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ความไม่สงบในอียิปต์ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น หลังความพยายามในการเจรจาของนานาชาติเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งในอีบิปต์ล้มเหลว อาจส่งผลต่อความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตะวันออกกลาง
- จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ หลังปริมาณน้ำมันดิบปรับลดลงมากในช่วง 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังบริเวณคุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 55 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- ความคืบหน้าของการขอเจารจาระหว่างประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านและสหรัฐฯ ในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ลดมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน
- ซูดานตัดสินใจเลื่อนเส้นตายการปิดท่อขนส่งน้ำมันที่จะขนส่งน้ำมันของซูดานใต้ไปอีก 2 สัปดาห์ เป็นวันที่ 22 ส.ค. นี้ เพื่อให้สหภาพแอฟริกาเข้าตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าซูดานใต้ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในซูดาน
- การผลิตน้ำมันดิบของอิรักในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังความรุนแรงในประเทศลดลงอาจส่งผลกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การปิดซ่อมบำรุงท่าส่งน้ำมันในเดือน ก.ย. คาดว่าจะทำให้การส่งออกหายไป 400,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น