ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันในสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 107.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 105.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 0.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 104.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
บรรยากาศการลงทุนโดยรวมชะลอตัวเพราะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาต่างๆ ที่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาลดขนาดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือQE ซึ่งจะจัดประชุมระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย. 56 นี้ มีท่าทีสนับสนุนให้ Fed ลด QE
Markit Economics และ HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ของจีนในเดือน ก.ค. 56 คงที่จากเดือนก่อนหน้า ที่ 51.3 จุด ส่งผลให้ Composite PMI (คิดรวม Manufacturing และ Services) ลดลงจากเดือนก่อน 0.3 จุด มาอยู่ที่ 49.5 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Es Sider ขนาด 350,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของลิเบียกลับมาดำเนินการวันที่ 11 ส.ค. หลังหยุดส่งออกเพราะการประท้วงของพนักงานกว่า 2 สัปดาห์ และรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของลิเบียกล่าวว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน ก.ย. นี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน100,000บาร์เรลต่อวันอยู่ที่ระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน
กระทรวงพลังงานอิรักรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรักช่วงต้นเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้น 310,000 บาร์เรลจากเดือนก่อน
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เฉลี่ยเดือน ก.ค.56 ลดลงมาอยู่ที่ 335,500 ราย ต่ำสุดตั้งแต่ พ.ย. 50 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจถดถอย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 56 ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน22.4% มาอยู่ที่ระดับ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้นับเป็นอัตราการขาดดุลลดลงที่มากที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 52
แหล่งน้ำมันดิบ Buzzard ขนาด 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในทะเลเหนือของอังกฤษหยุดดำเนินการชั่วคราววันที่ 9 ส ค เพราะระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties เกิดขัดข้องทางเทคนิค ส่งผลให้ต้องเลื่อนตารางการส่งมอบน้ำมันดิบForties ในเดือน ส.ค.
สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค. 56 ลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 363.3 ล้านบาร์เรล
กรมศุลกากรจีนรายงานยอดนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 56 เพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 6.15 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากโรงกลั่นเร่งเก็บสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงในสัปดาห์นี้เพราะสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญทั้งด้านการบริโภค อสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงาน ซึ่งทิศทางของตัวเลขข้างต้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อนโยบาย QE นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์หลายรายเห็นว่า FED จะลดวงเงินอัคฉีดศู่ระบบเศรษฐกิจในเดือน ก.ย. นี้ ส่วนความต้องการใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นยุโรป เดือน ก ค ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน และ 8% จากสัปดาห์ก่อน เพราะอุปสงค์ในภูมิภาคอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ IEA ที่ระบุว่าอุปสงค์น้ำมันของประเทศ NON- OECD จะเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มประเทศ OECD ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจจีนล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน กค56 เพิ่มขึ้น 9.7 % ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7% จากปีก่อนและอยูต่ำกว่าระดับเพดานที่รัฐกำหนดไว้ที่ 3.5% ด้านอุปสงค์น้ำมันของจีน (implied oil demand) เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 5.5% แสดงถึงการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจจีนเป็นไปในทางที่ดี ให้จับตาสถานการณ์ในอียิปต์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดสลายการชุมนุมของกลุ่ม ภราดรภาพมุสลิมที่รวมตัวประท้วงรัฐบาลมากว่า 6 สัปดาห์ ว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายหรือไม่สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 105.85 – 108.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 103.74- 107.26เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 101.85 – 104.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคามีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันดิบปริมาณการนำเข้า Gasoline ของอินโดนีเซียเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลลดลงจากระดับเดือน ส.ค. 56 ที่นำเข้าสูงถึง 12ล้านบาร์เรลเนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาขายปลีก Gasoline เพิ่มขึ้น 44. 56 % และความต้องการในประเทศลดลงหลังสิ้นสุดช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองการออกศีลอด (Eid-al-Fitr) และ ยอดขายรถยนต์ในอินเดียลดลงติดต่อกัน เก้าเดือนโดย เดือน ก.ค ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 131,136 คัน ประกอบกับ Petroleum Association of Japan รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน294,000 บาร์เรลหรือ 2.26% จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ระดับ 13.27 ล้านบาร์เรลอย่างไรก็ตามการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินขนาด 80,000 บาร์เรลต่อวันที่โรงกลั่น Talinกำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน ถึงกลางเดือน ต.ค. 56 ส่งผลให้บริษัทงดส่งออกน้ำมันเบนซินกำหนดส่งมอบเดือน ก.ย. 56 คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 114.15-117.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
โรงกลั่นในภูมิภาคเริ่มหันมาเพิ่มปริมาณการกลั่นน้ำมันกลุ่ม Middle Distillate ได้แก่น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันทำความอบอุ่น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเริ่มเก็บสำรองสำหรับช่วงฤดูหนาว และการส่งออกน้ำมันดีเซลของอินเดียที่เพิ่มขึ้นเพราะอยู่ในฤดูฝนสามารถใช้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มลดลง และ ปริมาณสำรอง Gas Oil เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 746,000 บาร์เรลหรือ 7.39%จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ระดับ 10.82 ล้านบาร์เรลอย่างไรก็ตามโรงกลั่นในไต้หวันประสบปัญหาทางเทคนิคทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินซึ่งเฉลี่ยครึ่งแรกของปีส่งออกอยู่ที่ระดับ 79,000 บาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มลดลงใน 3 เดือนข้างหน้า สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 120.77-123.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวเด่น