ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.40 น. วันนี้ (14 ส.ค. )ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3323/2550 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ นายสมบูรณ์ คุปติมนัส โดยนายสรรพวิชช์ คงคาน้อย ผู้รับมอบอำนาจช่วง เป็นโจทก์
ฟ้องนาย สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และบริษัทแมเนเจอร์ มีเดียร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ( ศาลยกฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ) เป็นจำเลยที่ 1- 3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
คำโจทก์ฟ้องสรุปความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค.50 จำเลยที่ 2 นำเทปการกล่าวปราศรัยของ จำเลยที่ 1 โดยบันทึกที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาออกอากาศในรายการ ยามเฝ้าแผ่นดินทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 3 นำข้อความมาตีพิมพ์ ทำนองว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนายสนธิถึงสาเหตุที่ต้องออกจากรัฐบาล เนื่องจากตลอด 8 ชั่วโมง หลังการยึดอำนาจรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค.55 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 6 เดือนปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน แนวหน้า ข่าวสด เดอะเนชั่น ไทยโพสต์ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ในวันที่ 24 ส.ค.50 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมจัดรายการกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด โดยคำพูดดังกล่าวจำเลยที่ 1 ปราศรัยที่ประเทศสหรัฐฯ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการจัดรายการกับจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 จะผิด ฐานหมิ่นประมาทโจทก์ แต่การบันทึกเทปดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 24 ส.ค.50 ก่อนวันที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้อง ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปราศรัย โดยจำเลยที่ 2 กล่าวนำและกล่าวปิดการเผยแพร่ภาพออกอากาศในรายการ จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนรู้เห็นต้องรับผิดด้วย
ฉะนั้นจึงต้องต้องพิจารณาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ได้ความจากการสืบพยานของทนายจำเลยว่า ในช่วงเวลาที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2548-2549 ตลอดจนช่วงที่ถูกยึดอำนาจจาก คปค. มีการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อมวลชน เกี่ยวกับการพูดของโจทก์ที่มิบังควร และในการชุมนุมของกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) ที่หน้าบ้าน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เพื่อแสดงความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ก็ได้วิดีโอลิงก์มายังกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นกลุ่มพวกเดียวกัน เมื่อโจทก์สนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมจึงทำให้มีส่วนรู้เห็นดังกล่าว จากพฤติการณ์ของโจทก์และพยานแวดล้อม มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจาบจ้วงสถาบัน ต้องการทำตัวเหนือองคมนตรี ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวเป็นการแสดงความเห็นโดยการติชมด้วยความสุจริต จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยที่ 2 นำเทปการปราศรัยของจำเลยที่ 1 มาออกอากาศจึงไม่ผิดหมิ่นประมาทเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ข่าวเด่น