ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(14 ส.ค. 56) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 38,209 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด
สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 31,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทาน เน้นการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยจะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่จะถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ด้วย
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 15,600 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,376 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,000ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,103 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 316 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 4,600 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 385 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 130 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 596 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนอื่นๆ ยังรับได้รวมกันอีกกว่า 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา(14 ส.ค.) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 751 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.70 เมตร และที่สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 275 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในเขตอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ นั้น ขณะนี้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการตัดยอดปริมาณน้ำทางตอนบนก่อนจะไหลเข้าสู่ตัวอ.ลาดยาว โดยการเปิดประตูระบายน้ำบ้านสะเดาซ้าย ระบายน้ำลงสู่คลองวังม้า พร้อมเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังโดยเร็วแล้ว หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วันนี้
ข่าวเด่น