เช้าวันนี้ (20 สิงหาคม 2556) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊ค Korn Chatikavanij โดยระบุถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะถดถอย
"ถดถอย?
"Recession" คือ 'ภาวะถดถอย' ทางเศรษฐกิจ วิธีวัดทางเทคนิคคือการเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละไตรมาสเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น และถือว่าเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' ถ้าการเปรียบเทียบเช่นนีี้ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน
วันนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' อย่างเป็นทางการแล้วหลังจากที่สภาพัฒน์ได้เปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างความตกใจให้กับนักลงทุนพอสมควร โดยสรุปคือไตรมาส 2 มีการขยายตัวติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และไตรมาส 1 เองติดลบ 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี 51-52 ความหมายคืออะไร
อันดับแรก เทียบกับปีที่แล้วโดยรวมเศรษฐกิจยังโตอยู่ เพียงแต่อัตราการขยายตัวชะลอลงอย่างมาก และที่เป็นเช่นนั้นเพราะตัวขับเคลื่อนทุกตัวชะลอตัวหมด ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การลงทุน การส่งออก หรือ การลงทุนโดยรัฐ
ถามว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปมีผลอย่างไรกับเรา มีเยอะครับ อันดับแรก ธุรกิจต่างๆซบเซาก็ทำให้เงินฝืด ขาดความคล่องตัว รายได้ทุกคนลดลง มนุษย์เงินเดือนอย่างเก่งก็คือขาดโอที ขาดโบนัส เลวร้ายกว่านั้นก็คือถูกลดเงินเดือนหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นักศึกษาจบมาใหม่ก็จะหางานยากขึ้น ประชาชนจำนวนมากวันนี้รับภาระหนี้อยู่หนักอึ้งอยู่แล้วก็จะลำบากมากขึ้นเพราะภาระหนี้ยังคงอยู่แต่รายได้ลดลง
ส่วนภาครัฐรายได้ภาษีก็จะลดลง นอกเสียจากจะรีดไถชาวบ้านหนักมากขึ้น เพราะดันไปลดภาษีกำไรให้ผู้ประกอบการไปแล้วปีละเกือบ ๒ แสนล้านบาท การขาดดุลมากขึ้นก็คือต้องกู้มากขึ้น และเมื่อ GDP โตช้า ฐานคำนวนหนี้สาธารณะก็จะเล็กลง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะเพิ่มขึ้น มีผลต่อเครดิตของประเทศและระดับความเชื่อมั่น ต้นทุนการกู้ยืมของเราจะสูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ 'ฝ่ายค้าน' มองในแง่ลบเกินไป แต่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแน่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น
ที่น่าแปลกใจคือประเทศไทยเราเข้าสู่สภาวะนี้ทั้งๆที่ไม่ได้มี 'วิกฤติ' อะไรมาเป็นตัวฉุด
และนี่เรายังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐส่งสัญญานยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน (QE)
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้อีกก็คือนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชานิยมที่เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน ซํ้าร้ายกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้เขา และเป็นภาระมหาศาลต่องบประมาณแผ่นดิน
ส่วนนโยบายการคลังก็พลาดเพราะมัวทำเก๋ ลดงบลงทุนในงบประมาณมาสองปีติดเพื่อพยายามหลอกชาวบ้านว่างบขาดดุลน้อยลง มีวินัยการคลัง แต่จริงแล้วหลบไปใช้วิธีกู้ 'นอกระบบ' ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังเดินหน้าไม่ได้ และอาจจะเดินหน้าไม่ได้เลย เสียเวลาฟรีในการลงทุนไปเป็นปี นี่เป็นรัฐบาลมาสองปีเต็มแล้ว การลงทุนไม่ขยับ มีแต่การ 'พูด' ว่าจะลงทุน
ถึงวันนี้ไม่มีทางเลือกแล้วครับ กระตุ้นการบริโภคด้วยการกระตุ้นให้ชาวบ้านเพิ่มหนี้ก็ไม่ได้แล้ว ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้อย่างเดียว และต้องทำด้วยการ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการกินหัวคิว เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร พัฒนาทักษะแรงงานไทยทุกระดับ ลดภาระหนี้ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณโดยภาครัฐ และลดเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม
ส่วนพวกนโยบายหลอกล่อชาวบ้าน เลิกได้แล้วครับ เลือกตั้งคุณก็ชนะมาตั้งนานแล้ว ควรเอาจริงกับหน้าที่การเป็นรัฐบาลมากกว่า มีใครได้ข่าวการทำงานของครม.เศรษฐกิจบ้างไหม มีใครได้ฟังแนวทางการแก้ปัญหาจากท่านนายกฯ หรือรองนายกฯเศรษฐกิจหรือไม่ มีการพูดคุยเรื่องอย่างนี้ในสภาฯบ้างหรือเปล่า ไม่มีเลยครับ แถลงผลงานปีแรกยังไม่กล้าทำ สภาฯก็ไม่ยอมเข้า ถ้าผลงานดีไม่ว่า แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต้องต่อว่าครับ"
ข่าวเด่น