วันนี้ (27 สิงหาคม 2556) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีวาระที่ต้องติกตามคือ แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายาง ซึ่งม็อบเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ชุมนุมกดดันเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศราคารับซื้อยางดิบก.ก.ละ 120 บาท หากไม่ดำเนินการจะยกระดับปิดถนน ทั่วประเทศในวันที่ 3 กันยายนนี้
ทั้งนี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอให้ครม.พิจารณาโครงการพัฒนาสินค้ายางพาราครบวงจร สร้างโรงงานแปรรูปยางในชุมชนเพื่อการส่งออก และเน้นการบริหารจัดการด้านการตลาด เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจะเสนอของบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิต
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) คงจะรายงานให้ครม.ทราบถึง 3 แนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจะใช้วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้นำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.ธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร และ 3.วงเงิน10,000 ล้านบาท จะใช้ลดต้นทุนด้านการผลิตให้เกษตรกร
ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าว นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอครม.อนุมัติตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมีมติเห็นชอบกรอบเพดานราคารับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2556/2557 ทั้งนาปีและนาปรังที่จะเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.56 ซึ่งในส่วนของการรับจำนำข้าวนาปี ที่จะเริ่มรับจำนำในวันที่ 1 ต.ค. 56 ถึง 28 ก.พ.57 กำหนดเพดานราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 15,000 บาท โดยจำกัดวงเงินต่อครัวเรือนไม่เกินรายละ 350,000 บาท ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ตันละ 20,000 บาทตามเดิม ส่วนข้าวเปลือกนาปรังกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 13,000 บาท จำกัดวงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อครัวเรือน จากกรอบที่กำหนดไว้ใช้ทั้งปีที่ 270,000 ล้านบาท
ข่าวเด่น