น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ ต.ค. ปรับลดลง 1.15 เหรียญฯ ปิดที่ 114.01 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. ปรับลดลง 1.15 เหรียญฯ ปิดที่ 107.65 เหรียญฯ - ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดลงเหตุจากนักลงทุนเทขายทำกำไร หลังประธานาธิบดีโอบาม่าเผยหากสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางทหารตอบโต้ซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีปราบปรามประชาชน มาตรการดังกล่าวจะเป็นแบบวงจำกัดและกระชับและได้ตัดประเด็นการส่งกำลังทางทหารภาคพื้นดินเข้าไปรวมถึงการโจมตีในระยะยาวเหมือนในอิรัก ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าการโจมตีคงไม่บานปลายและกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางแต่อย่างใด - นอกจากนี้รัฐสภาอังกฤษลงมติด้วยเสียงข้างมาก คัดค้านการใช้กำลังทหารต่อซีเรีย ทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคาเมรอน ต้องยุติความเกี่ยวข้องกับการโจมตีที่จะเกิดขึ้น อย่างน้อยจนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติใดๆ หลังได้รับรายงานการตรวจสอบของคณะตรวจสอบที่ UN ส่งเข้าไปเก็บข้อมูลในซีเรีย + อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยว่าในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกหายไปกว่า 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเหตุไม่สงบและการประท้วงในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาโดยเฉพาะในลิเบีย อิรัก ไนจีเรีย รวมถึงการหยุดซ่อมบำรุงหลุมผลิตน้ำมันดิบในแถบทะเลเหนือ + ล่าสุดปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 145,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับปกติที่เคยส่งออกก่อนเกิดการประท้วงที่ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน + นอกจากนี้ข้อมูลจากบริษัทน้ำมันในอิรัก เผยว่าปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิรักในเดือน ก.ย.จะปรับลดลงประมาณ 285,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 2.085 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. มาอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการนำเข้าจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ชะลอตัวลง หลังราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งค่าเงินอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการจากอินโดนีเซียและเวียดนามยังคงเบาบาง ประกอบกับปริมาณส่งออกที่อยู่ในระดับสูงจากอินเดีย รวมทั้งอุปทานที่ค่อนข้างมากในตะวันออกกลาง ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเวสต์เท็กซัสที่กรอบ 105-111 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 110 - 116 เหรียญฯ โดยราคายังคงเคลื่อนไหวในกรอบสูงเนื่องจากสถานการณ์ในซีเรียยังไม่มีความแน่นอน ส่วนวันนี้ติดตามตัวเลขดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วันจันทร์: (ตลาดสหรัฐฯ ปิดเนื่องในวันหยุดวันแรงงาน) ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) วันอังคาร: ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (PMI, ISM) และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Official PMI) รวมถึงการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน วันพุธ: ยอดขายรถของสหรัฐฯ รวมถึง ยอดค้าปลีกและจีดีพี 2/56 ของยูโรโซน วันพฤหัสฯ: ยอดขายร้านสาขา การจ้างงานภาคเอกชน ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดสั่งซื้อโรงงาน และดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตร ปัจจัยที่น่าจับตามอง - สถานการณ์ในซีเรียที่ยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงตามที่หลายฝ่ายคาดก็จะทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลายและอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันของภูมิภาคตะวันออกกลาง - ความรุนแรงในอียิปต์ที่ยังคงไร้ทางออก ล่าสุดซาอุดิอาระเบียได้ประกาศให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อียิปต์ หากสหรัฐฯและยุโรปเพิกถอนการสนับสนุนอียิปต์เนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น - การส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียยังคงปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 400,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องมาจากการประท้วงของคนงานบริษัทน้ำมันที่ยืดเยื้อ แม้ว่าท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบบางแหล่งมีแนวโน้มจะกลับมาเปิดใช้ได้ตามเดิม - การกลับมาดำเนินการอีกครั้งของแหล่งน้ำมันดิบบริเวณทะเลเหนือ หลังผ่านพ้นช่วงปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประจำปี - ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 5 ก.ย. นี้ ว่าจะมีความคืบหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปเพิ่มเติมหรือไม่
ข่าวเด่น