บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์ ประเมิน แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 2 – 6 ก.ย. 56)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยเหตุการณ์ในซีเรียที่ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขั้นใช้อาวุธเคมี ส่งผลให้สหรัฐฯ พิจารณาที่จะเข้าแทรกแซงทางทหาร หนุนให้ราคาน้ำมันดิบยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือทั้งในอิรัก ลิเบียและซูดานยังคงส่งผลกระทบให้การผลิตและส่งออกของภูมิภาคปรับลดลง ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวในภูมิภาค
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
• สถานการณ์ในซีเรียที่ยังมีความไม่แน่นอน หลังล่าสุดสหรัฐฯ ยืนยันว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีบาร์ซา อัล-อัซซาสเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงความไม่สงบในซีเรียหรือไม่ ซึ่งหากสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก็จะทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลายและอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันของภูมิภาคตะวันออกกลาง
• จับตาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย หลังล่าสุดการส่งออกยังคงปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 250,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 400,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากการประท้วงของคนงานบริษัทน้ำมันที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบบางแห่งมีแนวโน้มจะกลับมาเปิดใช้ได้ตามเดิม
• อุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางยังคงมีความเสี่ยงที่จะตึงตัว สาเหตุจากอิรักวางแผนจะลดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อ Kirkuk ในเดือน ก.ย. โดยให้เหตุผลว่าท่อเกิดความเสียหายบ่อย จากการถูกโจมตีบริเวณชายแดนอิรัก-ตุรกี ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมในอียิปต์ยังคงยืดเยื้อต่อไป
• จับตาความคืบหน้าของการพิจารณายุติการส่งออกน้ำมันดิบของซูดานใต้ทางท่อส่งน้ำมันผ่านพื้นที่ของซูดาน ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ซึ่งหากซูดานไม่ยอมให้มีการส่งออกน้ำมัน จะทำให้การส่งออกน้ำมันของซูดานใต้ประมาณกว่า 350,000 บาร์เรลต่อวันขาดหายไป
• ดัชนีภาคการผลิตของจีนเดือน ส.ค. ที่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้น อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะหนุนราคาน้ำมันดิบให้ยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ในสัปดาห์นี้ยังมีการประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซนด้วย
• ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 5 ก.ย. นี้ ว่าจะมีความคืบหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/56 ของยูโรโซน ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้เช่นกัน ซึ่งตลาดคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น
• ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าจับตามองในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายรถ ยอดขายร้านสาขา ยอดสั่งซื้อโรงงาน การใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง การจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ และยอดค้าปลีกของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 - 30 ส.ค. 56)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 114.01 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น 1.23 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 107.65 เหรียญสหรัฐฯ และดูไบปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ประมาณ 111 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่เบรนท์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ทั้งนี้เนื่องมาจากความรุนแรงในซีเรียเป็นหลัก ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเกิดความกังวลอย่างมากว่าเหตุการณ์ในซีเรียจะบานปลายเพราะล่าสุดกลุ่มกบฏในซีเรียออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียมีการใช้อาวุธเคมีในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบกับสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าอาจจะใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงในซีเรีย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น ตัวเลขเศรษฐกิของสหรัฐฯ ทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านยังคงปรับตัวลดลง
ข่าวเด่น