น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญฯ ปิดที่ 114.36 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลง 0.83 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 106.82 เหรียญฯ ณ เวลาเที่ยงคืน ประเทศไทย (ตลาดปิดวันแรงงานสหรัฐฯ) + ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตบริเวณทะเลเหนือที่ต่ำกว่าคาด ภายหลังการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประจำปี เป็นเหตุให้ต้องมีการเลื่อนกำหนดการส่งน้ำมันดิบบางส่วนจากเดือนกันยายนไปยังเดือนตุลาคม นอกจากนี้เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สงครามกลางเมือง การคว่ำบาตร และกำลังการผลิตที่ลดน้อยลงในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็นผลให้มีปริมาณน้ำมันดิบหายไปกว่า 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงที่ผ่านมา + ตัวเลขเศรษฐกิจจีนและยูโรโซนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนีการผลิตจีน(HSBC)ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.1 ในเดือนสิงหาคม จาก 47.7 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.4 ในเดือนสิงหาคม จาก 50.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยการที่ดัชนีภาคการผลิตที่สูงกว่า 50 จะหมายถึงภาคการผลิตขยายตัว + ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลิเบียยังอยู่ในระดับต่ำราว 0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 10%ของกำลังการผลิตรวมของประเทศเท่านั้น โดยเหตุการณ์การประท้วงค่าแรงที่ยังคงยืดเยื้อต่อไป - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบาม่า ออกแถลงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะเข้าหารือกับสภาคองเกรสในวันที่ 9 กันยายนนี้ ก่อนจะมีการตัดสินใจโจมตีซีเรีย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวช่วยลดความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวของตลาดลง อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสได้ออกมาเปิดเผยรายงานสรุปหลักฐานการใช้อาวุธเคมีจากหน่วยข่าวกรอง ซึ่งระบุว่ารัฐบาลซีเรียคือผู้อยู่เบื้องหลังจากโจมตีประชาชนด้วยอาวุธเคมี และพร้อมจะสนับสนุนสหรัฐฯในการโจมตีซีเรีย ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ท่ามกลางอุปทานที่เพิ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้นจากประเทศอินเดีย เนื่องจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลง ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมันจากประเทศแถบแอฟริกาช่วยหนุน รวมไปถึงปัจจุบันมีการส่งน้ำมันดีเซลไปขายยังฝั่งตะวันตกด้วย ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเวสต์เท็กซัสที่กรอบ 105-111 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์ เคลื่อนไหวในกรอบ 110 - 116 เหรียญฯ โดยราคายังคงเคลื่อนไหวในกรอบสูงเนื่องจากสถานการณ์ในซีเรียยังไม่มีความแน่นอน ส่วนวันนี้ติดตามดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (PMI, ISM) และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Official PMI) และดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วันอังคาร: ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (PMI, ISM) และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Official PMI) รวมถึงการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน วันพุธ: ยอดขายรถของสหรัฐฯ รวมถึง ยอดค้าปลีกและจีดีพี 2/56 ของยูโรโซน วันพฤหัสฯ: ยอดขายร้านสาขา การจ้างงานภาคเอกชน ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดสั่งซื้อโรงงาน และดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตร ปัจจัยที่น่าจับตามอง - สถานการณ์ในซีเรียที่ยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงตามที่หลายฝ่ายคาดก็จะทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลายและอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันของภูมิภาคตะวันออกกลาง - ความรุนแรงในอียิปต์ที่ยังคงไร้ทางออก ล่าสุดซาอุดิอาระเบียได้ประกาศให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อียิปต์ หากสหรัฐฯและยุโรปเพิกถอนการสนับสนุนอียิปต์เนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น - การส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียยังคงปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 400,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องมาจากการประท้วงของคนงานบริษัทน้ำมันที่ยืดเยื้อ แม้ว่าท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบบางแหล่งมีแนวโน้มจะกลับมาเปิดใช้ได้ตามเดิม - การกลับมาดำเนินการอีกครั้งของแหล่งน้ำมันดิบบริเวณทะเลเหนือ หลังผ่านพ้นช่วงปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประจำปี - ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 5 ก.ย. นี้ ว่าจะมีความคืบหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปเพิ่มเติมหรือไม่
ข่าวเด่น