ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเพิ่ม หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น


"ราคาน้ำมันดิบเพิ่ม หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้น"

น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญฯ ปิดที่ 115.26 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.14 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 108.37 เหรียญฯ 
 
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 9 โดยปรับลดลง 1.84 ล้านบาร์เรล ซึ่งการปรับตัวลดลงของน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ มีสาเหตุเนื่องมาจากโรงกลั่นเร่งผลิตเพิ่มขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 91.7% ของอัตราการใช้กำลังการผลิตเพื่อที่จะผลิตน้ำมันเบนซินส่งออกไปฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นการชดเชยอุปทานที่หายไปจากความขัดแย้งในลิเบียที่ส่งผลให้โรงกลั่นในลิเบียต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว
 
+ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปีเป็น 58.6 จาก 56.0 ในเดือน ก.ค. โดยภาคการบริการนั้นคิดเป็น 85% ของเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้นการขยายตัวของภาคบริการจึงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
 
+ นอกจากนี้ตัวเลขการจ้างงานเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 176,000 รายในเดือนส.ค. ขณะที่ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานปรับลดลงจากสัปดาห์ที่แล้วมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
 
- อย่างไรก็ตามยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐฯ ปรับลดลงในเดือน ก.ค. ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จึงทำให้เกิดความกังวลต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลง โดยมีการส่งออกน้ำมันเบนซินไปที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากโรงกลั่นในมะละกาหยุดการผลิตฉุกเฉินเมื่อวานที่ผ่านมา
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่อย่างไรก็ตามน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงสนับสนุนจากการที่สามารถส่งออกไปแถบยุโรปได้
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเวสต์เท็กซัสที่กรอบ 105-111 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 110 - 116 เหรียญฯ โดยราคายังคงเคลื่อนไหวในกรอบสูงเนื่องจากสถานการณ์ในซีเรียยังไม่มีความแน่นอน ส่วนวันนี้ติดตามการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันจันทร์: ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน
วันอังคาร: การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดขายปลีกจีน
วันพุธ: ยอดค้าส่งสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี (ครั้งสุดท้าย)
วันพฤหัสฯ: การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป และรายงานดุลงบประมาณธนาคารกลางสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
 
- ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของ EIA, OPEC (10 ก.ย.) และ IEA (12 ก.ย.) ว่าจะมีมุมมองต่อทิศทางอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบอย่างไร ภายหลังซาอุดิอาระเบียวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตในไตรมาสที่ 3 เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่คาดว่าจะหายไปเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ความคืบหน้าแผนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯต่อซีเรีย หลังคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เห็นชอบให้มีการโจมตีซีเรีย อย่างไรก็ดีการลงมติเห็นชอบของสภาคองเกรสที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 ก. ย. นี้ อาจยืดเยื้อถึง 2 สัปดาห์ รวมไปถึงติดตามรายงานการตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีจากสหประชาชาติ
- การส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียที่ลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 80,000 บาร์เรลต่อวัน ยังคงสร้างความกังวลให้แก่ตลาดน้ำมันเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว แม้ว่าท่าเรือหลายแห่งจะกลับมาเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม 
- แผนการปิดซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกของอิรักในเดือน ก.ย. ทำให้การส่งออกลดลงเกือบ 300,000 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคเกิดความตึงตัวมากขึ้น
-  กำลังการผลิตที่กลับมาดำเนินการต่ำกว่าคาดของแหล่งน้ำมันดิบบริเวณทะเลเหนือหลังการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประจำปี เป็นผลให้มีการเลื่อนกำหนดการส่งมอบน้ำมันบางส่วนออกไปยังเดือนตุลาคมจากเดือนก่อนหน้า

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ย. 2556 เวลา : 11:36:44

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:44 am