"น้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความเหตุกังวลในซีเรียยังคงอยู่"
น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น1.04 เหรียญฯ ปิดที่ 108.60 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ต.ค.(วันสิ้นสุดสัญญา) ปรับเพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญฯ ปิดที่ 112.63 เหรียญฯ ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น1.34 เหรียญฯ ปิดที่ 112.63
+ ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดยังคงความกังวงต่อสถานการณ์ในซีเรีย ทั้งนี้จากการเจรจาทางการฑูตระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลรัสเซีย เพื่อให้ซีเรียส่งมอบอาวุธเคมีให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาตินั้น ล่าสุดประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียได้ยอมรับข้อตกลงที่จะมอบอาวุธเคมีให้อยู่ภายใต้การควบคุมตามข้อเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงพร้อมใช้มาตรการโจมตีทางการทหารต่อซีเรีย หากพบว่าความพยายามทางการฑูตดังกล่าวประสบความล้มเหลว
+ ตลาดจับตาดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ว่าจะปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือไม่ โดยจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณเป็นระยะๆว่า เฟดอาจมีแนวโน้มที่จะปรับลดขนาด QE หากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นการปรับลด QE อีกครั้งอย่างรอบคอบ
- /+ รายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มีการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบของโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปคที่ปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 32 ปี เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากการปรับลดลงของกำลังการผลิตในลิเบีย ที่ลดลงสู่ระดับ 550,000 ล้านบาร์เรล ในเดือน ส.ค. ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบของโลกมีการคาดการณ์ว่าอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการนำเข้าจากผู้ซื้อหลักอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องและค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนตัวลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าไต้หวันอาจมีการนำเข้าน้ำมันดีเซล เพื่อชดเชยส่วนที่คาดหายไปเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อย่างไรก็ตามอุปสงค์โดยรวมในภูมิภาคยังคงอยู่ในสภาวะอ่อนแรง ขณะที่อุปทานกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากตะวันออกกลางและจีน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์หน้าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่กรอบ 105-111 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์
จะอยู่ที่กรอบ 109-115 เหรียญฯ โดยในสัปดาห์หน้าตลาดเฝ้าจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่การเจรจาเรื่องปัญหาซีเรียก็ยังอยู่ในความสนใจ ส่วนในวันนี้ติดตามดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันจันทร์: ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ
วันอังคาร: ความรู้สึกต่อภาวะเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW) ดัชนีตลาดบ้าน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันแรก
วันพุธ: ยอดขอสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันสุดท้าย
วันพฤหัส: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ
วันศุกร์: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป สหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17 - 18 ก.ย. นี้ ว่าทางธนาคารฯ จะประกาศลดวงเงินช่วยเหลือของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) หรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากมีการลด QE ในตอนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้
-จับตาว่าการเจรจาทางการฑูตของสหรัฐฯ และซีเรียจะปฏิบัติตามต่อข้อเสนอของรัสเซียที่จะยอมมอบอาวุธเคมีให้องค์กรนานาชาติควบคุมดูแลหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากการเจรจาทางการฑูตไม่สำเร็จ สหรัฐฯ ก็จะนำวิธีการแทรกแซงทางทหารกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
- จับตาการส่งออกน้ำมันของลิเบียว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ หลังล่าสุดทางการลิเบียพยายามเข้าหารือกับตัวแทนของกลุ่มผุ้ประท้วงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา
- ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่านจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในวันที่ 17 ก.ย. นี้ และคาดว่าจะนำเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์กลับมาหารือกับชาติตะวันตกอีกครั้ง
- การปิดซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกของอิรักในเดือน ก.ย. ที่ทำให้การส่งออกลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันดิบจากบริเวณทะเลเหนือคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.84 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. จาก 1.7 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย.
ข่าวเด่น